วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557
YES Club The Series สูตรสำเร็จธุรกิจร้านอาหาร ตอน 3 (ตอนจบ)
มาถึงบทความตอนสุดท้ายแล้วครับ กับ สูตรสำเร็จธุรกิจอาหารที่มีอยู่ 12 ข้อด้วยกัน
วันนี้จะมาถึงในส่วนของข้อ 7 ถึง ข้อ 12 ครับ
1. วิเคราะห์และประเมินกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
2. อาหารสำคัญที่สุด
3. บริการเป็นเลิศ
4. พนักงานเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจของร้านอาหาร
5. ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ก็ไม่ทุกกรณี
6. การก่อสร้างเป็นพื้นฐานของความสำเร็จ
7. บรรยากาศช่วยสร้างประสบการณ์ความต่างได้
8. เทคโนโลยี ใช้ให้เป็น อย่าทำเพราะมันเท่
9. ตั้งราคาให้เป็น อย่าลืม ต้นทุน ค่าใช้จ่ายแฝง
10. โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ต้องทำ แต่อย่าเน้นโปรโมชั่น
11. การจดทะเบียนต่างๆอย่าลืม
12. เตรียมรับมือความเสี่ยงในทุกๆด้าน
------------------------------------------------------
7. บรรยากาศช่วยสร้างประสบการณ์ความต่างได้
การสร้างบรรยากาศในร้านสามารถช่วยสร้างความแตกต่างได้ แต่ที่สำคัญ มันต้องสอดคล้องกับ อาหาร และ กลุ่มเป้าหมายของเรานะครับ บางที่ ทำร้านหรูเกินไป ลูกค้าไม่กล้าเข้าก็มี กลัวว่าจะแพง หรือกลับกัน บางร้านตกแต่งร้านไม่ดีทำให้คนไม่อยากที่จะเข้าร้าน
หลายๆร้าน ขายได้เพราะบรรยากาศดี แต่อาหารก็งั้นๆ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ก็ไม่ควรจะละเลยครับ อาหารอร่อย + บรรยากาศดี รับรอง ลูกค้าติดใจแน่นอนครับ ลูกค้าร้อยทั้งร้อย ทานอาหารนอกบ้าน เพราะอยากทานอาหาร อร่อยๆในบรรยากาศดีๆครับ
8. เทคโนโลยี ใช้ให้เป็น อย่าทำเพราะมันเท่
เทคโนโลยีในร้านอาหารมีเยอะมากครับ ส่วนใหญ่จะเป็นพวก POS (Software ร้านอาหาร) ที่จะช่วยเราในการทำร้านอาหาร ในการรับ order ส่งต่อ order คิดเงิน หรือ คำนวนในส่วนของวัตถุดิบ ถ้าจะใช้ ลองดูแบบที่มันเหมาะสม ใช้ตามที่จำเป็นตามที่ต้องการ อย่าใช้ให้เว่อร์เกินความต้องการ โดยที่มันไม่ได้สร้างมูลค่าให้กับลูกค้าของเราเลย ราคาของ software พวกนี้มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายแสนบาท เอาให้มันพอดีๆนะครับ ถ้ามีแค่ 1-2 สาขา ก็เอาง่ายๆไปก่อน ไม่จำเป็นต้องไปทำตามพวกที่มีขนาด หลักร้อยสาขา ที่ลงทุนใช้เงินเป็นแสนๆ เปลืองเงินโดยใช่เหตุครับ
9. ตั้งราคาให้เป็น อย่าลืม ต้นทุน ค่าใช้จ่ายแฝง
ในการตั้งราคาอาหาร สามารถทำได้สองทางครับ คือ เริ่มที่ราคาก่อน แล้วคิดย้อนกลับไปว่าต้นทุนควรจะเป็นเท่าไหร่ หรือ เริ่มที่ต้นทุนว่าเป็นวัตถุดิบเท่าไหร่ และ ควรจะตั้งราคาขายที่เท่าไหร่.. ราคาที่ตั้งก็อยู่ที่ว่าเราจะขายให้กับลูกค้ากลุ่มไหนครับ ระวังอย่าตั้งให้ถูกเกินไป หรือ แพงเกินไปนะครับ ลองศึกษาคู่แข่งสักหน่อยก็ดี จะได้ตั้งระดับราคาได้สมเหตุสมผล
โดยปกติต้นทุนอาหารของร้านอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 20-35% ฟังดูเหมือนจะมีกำไรเยอะ แต่อย่าลืมนะครับ เรามีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีก เช่น ค่าแรงพนักงาน, ค่าเช่าร้าน, ค่าส่วนสูญเสีย (ของเสีย, ทำผิด), ค่าสาธารณูประโภคต่างๆ หรือแม้แต่ ค่าการตลาด พอรวมๆกันแล้ว เราก็จะเหลือกำไรประมาณ 5-15% ครับ แล้วแต่การจัดการ ถ้าบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ดี ก็เตรียมขาดทุนได้เลยครับ
พอเราทราบค่าใช้จ่ายทุกอย่างก็ลองมาคำนวนดูครับ ว่าเราต้องขายขั้นต่ำวันละเท่าไหร่ เพื่อที่จะให้คุ้มทุน หากดูแล้วมันพอเป็นไปได้ในการทำธุรกิจจะได้สบายใจ แต่ถ้าดูแล้ว มันท่าทางน่าจะยาก ก็ลองๆคิดเพิ่มเติมครับ ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลง ได้บ้าง แต่อย่าลดลงจนทำให้คุณภาพและบริการเสียไปนะครับ
10. โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ต้องทำ แต่อย่าเน้นโปรโมชั่น
ถ้าอาหารคุณอร่อย อาหารคุณดี เน้นเฉพาะการโฆษณาเพื่อแนะนำให้คนรู้จักก็พอครับ โปรโมชั่นทำนิดๆหน่อยๆไม่ต้องทำมาก อาจจะมีโปรโมชั่นเปิดร้านเพื่อเรียกลูกค้า, ทำโปรโมชั่นขายเป็น set เพื่อให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะขึ้น หรือ ออกสินค้าใหม่ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับลูกค้า ลูกค้าจะได้ไม่เบื่อ ซึ่งถ้าอาหารคุณอร่อยทำแค่นี้ก็พอครับ
แต่ที่เราเห็นๆกันอยู่ในตลาดทุกวันนี้ ที่มีลดแลกแจกแถมกันมากมาย แข่งขันกันสุดฤทธิ์ ก็เพราะอาหารเค้าไม่ได้เจ๋งจริงๆ ลองนึกถึงร้านอาหารที่ไม่ค่อยมีโปรโมชั่น แต่คนก็เต็มร้านซิครับ ร้านพวกนั้นแหล่ะของจริง ที่ผมเคยเห็นๆก็จะมี ฮะจิบังราเมง, ฟูจิ, Zen, Coffee Beans หรือ ร้านอาหารใหญ่ๆตามถนนเกษตรนวมินทร์ ถ้าลูกค้า เข้าร้านคุณเพราะโปรโมชั่น หากหมดโปรฯ คนก็ไม่เข้า ทำโปรฯบ่อยๆเข้า ลูกค้าเคยชิน ดีไม่ดี อีกหน่อย ทำลด 50-70% คนก็ยังไม่เข้าอยู่ดี สังเกตุดูครับ ร้านไหนบ้างทำโปรโมชั่นตลอดเวลาแต่ก็ยังไม่มีลูกค้า ร้านพวกนั้นอยู่ได้อีกไม่นานหรอกครับ เดี๋ยวก็ไป ยิ่งถ้าเริ่มมี 1 แถม 1 หรือ ลด 50% แสดงว่าสถานการณ์เริ่มแย่แล้วครับ
11. การจดทะเบียนต่างๆ
อย่าลืมเรื่องการจดทะเบียนต่างๆในร้านครับ เช่น จดทะเบียนบริษัท หรือ ร้านอาหาร, จดทะเบียนเครื่อง Cashier, ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม, ขออนุญาตสะสมอาหาร, ขออนุญาตขายสุรา, ทะเบียนภาษีป้าย เตรียมให้พร้อมครับ ถ้าไม่ถนัด มีคนรับจ้างทำครับ ไม่ต้องทำเองก็ได้ แต่ถ้าจะเปิดเองเป็นสาขาแรก และพอมีเวลา ลองทำดูครับ มันไม่ยากอย่างที่เราคิด เราจะได้เรียนรู้ไปกับมันด้วย
12. อย่าลืมคิดถึงความเสี่ยง
สุดท้ายอย่าลืมนึกถึงความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ครับ คิดทุกๆรูปแบบ โดยความเสี่ยงหลักๆที่เราจะเจอมีดังนี้ครับ
- ลูกค้าน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้จะทำอย่างไร ทำ Delivery ดีมั๊ย หรือ จะออกโปรโมชั่นดึงลูกค้า
- ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น, วัตถุดิบขาดตลาด
- พนักงานขาดแคลน ลาออกพร้อมๆกัน คนใหม่ก็ยังทำไม่เป็น
- ไฟดับ ระบบ Software เสีย จะสั่งอาหาร คิดเงินอย่างไร
- เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ เพราะต้องลงทุนสร้างร้าน ซื้อวัตถุดิบ และ จ่ายค่าเช่าเป็นเงินก้อนใหญ่ ไหนจะเงินเดือนแต่ละเดือนอีก
- ลูกค้าร้องเรียน บริการไม่ดี อาหารไม่สะอาด พนักงานไม่สุภาพ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร
- พนักงานทะเลาะกัน ยกพวกกันมาหน้าร้าน ไหนจะปัญหาเรื่องโกง ชู้สาว และ อื่นๆอีกมากมาย
- หากต้องปิดธุรกิจจริงๆ เราจะรับความเสี่ยงได้มากน้อยเท่าใด
จากทั้งหมดที่ผมเขียนมา ผมยังขอยืนยันอีกครั้งครับ ว่าถ้าจะทำร้านอาหาร อาหารต้องอร่อยที่สุด หากไม่อร่อยที่สุด สิ่งต่างๆอย่างอื่นก็ต้องโดดเด่นเพื่อมาทดแทนกันให้ได้ และ การที่เราจะทำธุรกิจร้านอาหารเราต้องลงในรายละเอียดต่างๆให้อย่างครบถ้วน เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจของเราสามารถฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆนาๆ และ ต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดเพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่รอด และ ประสบความสำเร็จ ผมขอเอาใจช่วยทุกๆท่านให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจที่ท่านกำลังจะทำ หรือที่ท่านได้ทำอยู่ หวังว่าสิ่งที่ผมบอกเล่ามาคงจะพอมีประโยชน์บ้างนะครับ และ ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมาครับ อาจจะค่อนข้างยาวไปหน่อย
ใครที่กำลังทำธุรกิจอาหารหรือ เครื่องดื่มอยู่มีอะไรจะแชร์ก็สามารถบอกกันเข้ามาได้นะครับ หรือ บอกเข้ามาหน่อยก็ได้ครับ ว่ากำลังทำธุรกิจอะไรกันอยู่ ในเรื่องต่อๆไปทางทีมงานเราจะได้เขียนเรื่องที่มีประโยชน์กับทุกๆท่านครับ
ARA
#yesclub #foodbusiness
ติดตามอ่านบทความย้อนหลัง กลยุทธ์สู่ความสำเร็จของธุรกิจอาหาร ได้ที่
https://www.facebook.com/160148840761012/photos/a.169898993119330.34803.160148840761012/579658202143405/?type=1&theater
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น