วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำแต่ที่ถนัด


ทำแต่ที่ถนัด


ในการทำงานนั้นไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจส่วนตัวหรือว่าทำงานประจำ สิ่งที่เจอก็คือว่า มีงานมากมายที่จำเป็นต้องทำ บ้างก็เลือกได้ว่าจะให้ใครทำ บ้างก็เลือกไม่ได้ แต่หากเราเลือกได้โดยเฉพาะกับเจ้าของธุรกิจที่ทำเอง หรือพึ่งเริ่มเช่น SME ต่างๆนั้นต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่จากประสบการณ์ที่ได้เห็นมานั้นคือ จะทำเองทุกอย่างหมดเป็นทั้ง Call center, เป็นทั้งฝ่ายผลิต, เป็นทั้งฝ่ายการตลาด, เป็นทั้ง Sales, เป็นทั้ง IT, หรือพูดง่ายๆ ว่า all in one นั่นเอง แต่การทำแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เรามาดูกันว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร



ข้อดี

· สามารถมุ่งไปยังสิ่งที่ถนัดและทำให้ได้ดีได้

· เก่งเฉพาะทาง

· สามารถพัฒนาศักยภาพในด้านนั้นได้ดีและสามารถทำให้เป็นผู้ชำนาญได้

· สามารถหาผู้ชำนาญทางด้านอื่นมาช่วยในด้านที่เราไม่ถนัดได้

· ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

· ไม่มี fix cost เนื่องจากงานที่ไม่ถนัดสามารถ outsource ได้


ข้อเสีย

· จำเป็นต้องใช้คนเยอะขึ้นและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

· รู้และชำนาญงานในวงแคบ


นอกจากนี้แล้ว การโฟกัสในสิ่งที่เราไม่ถนัดเราจะสามารถหาผู้ช่วยและผู้ที่ชำนาญมาช่วยอุดรูรั่วในส่วนที่เราไม่ชำนาญได้เช่นว่า เราชำนาญทำตลาด ขายเก่ง วางแผนเก่งแต่ก็อาจจะผลิตไม่เก่ง หรือว่าทำ IT ทำคอมไม่เก่ง เราก็เอาเวลาที่มีของเรานั้นไปทำตลาดไปขายของดีกว่า แล้วส่วนอื่นๆเราก็ outsource ออกไปได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้นั้นหาคนที่จะ outsource ได้เยอะมาก สิ่งที่เราทำได้ก็คือการสกรีนหาคนมาช่วยเราที่มีคุณภาพ และเข้าใจในงานที่ต้องการจะทำ


ในปัจจุบันนี้ทาง SME หรือบริษัททั้งหลายสามารถหา outsource ได้ในทุกส่วนและเหลือให้ธุรกิจของคุณเล็กและคล่องขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ว่าหากคุณต้องการขายสินค้าอย่างนึง คุณอาจจะต้องเปิดโรงงานและก็วุ่นอยู่กับโรงงานทั้งที่คุณไม่ถนัด แต่เดี๋ยวนี้การรับจ้างผลิตนั้นช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการอย่างเยอะมาก หรือนอกจากการผลิต การขนส่งต่างๆ messenger ก็สามารถ outsource ได้ โดยบริษัทขนส่งต่างๆหรือเอาง่ายๆก็มอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าปากซอยที่เห็นหน้ากันทุกวัน เผลอๆลองไปสอบถามราคาคุณอาจจะเจอว่าราคาอาจไม่แพงอย่างที่คิด ดังนั้นคุณก็ไม่ต้องไปจ้าง messenger มาประจำที่ออฟฟิตคุณและต้องเสียเงินเดือนในแต่ละเดือนให้กับพนักงานประจำต่างๆ


ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ การใช้ทุนให้น้อยสุดนั้นเป็นเรื่องดี จนกว่าธุรกิจจะหาโมเดลที่ลงตัวได้พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายและรายรับเลยนิ่ง ค่อยขยับหาทางขยายในเฟสต่อๆไปครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)


วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

โลกสีดำกับคนทำธุรกิจ



โลกสีดำกับคนทำธุรกิจ


ในโลกแห่งความฝัน คนที่มีฝันเริ่มธุรกิจทุกคนนั้นมองโลกที่เต็มไปด้วยสีชมพู และกลีบกุหลาบ ทุกอย่างดูดีเป็นภาพที่สวยงาม ทุกอย่างดูโอเค พระอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออกและตกในทิศตะวันตก แดดอ่อนๆยามเย็นที่ส่องทะเลสีทองอำไพสวยเหลือเกิน แต่พระอาทิตย์ดวงเดิมๆช่วงพระอาทิตย์ตกดินสำหรับบางคนที่กำลังจะเริ่มทำหรือทำธุรกิจไปแล้วอาจไม่ได้สวยแบบนั้นเสมอไป


สำหรับความเป็นจริงบางอย่างแล้ว ในการทำธุรกิจมันอาจไม่ได้สวยหรูแบบนั้น ระหว่างทางมันมีทางคดเคี้ยว ขรุขระ อุปสรรคต่างๆเต็มไปหมด หรือบางทีก็ไม่มีแม้แต่เส้นทางให้ด้วย มันเป็นโลกสีดำ มันเป็นเหมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้มหาสมุทรที่คนส่วนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญแต่มันมีอยู่จริง และที่แย่กว่านั้นคือมันทำให้เรือที่ไม่มีวันล่มอัปปางลงสู่ก้นทะเลได้ อย่างเรือไททานิค


หากไม่ดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างมาก แม้แต่เราตั้งสมมติเหตุการณ์ต่างๆไว้หลายเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ดีที่สุด เหตุการณ์ปกติ และเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เชื่อมั้ยครับว่าหลายๆครั้ง เหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการใหม่ทั้งหลายเจอ จะแย่กว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและเป็นเหตุทำให้ต้องเลิกลาไปเพราะว่าแต่ละเหตุการณ์นั้นไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ไม่ว่าจะเป็น การไม่เข้าใจผู้บริโภคที่ดี การคิดว่าสินค้าดีๆอย่างเดียวก็สามารถขายได้ง่ายๆ หรือว่าเงินสดในมือที่ไม่ได้เตรียมไว้พอพอเจอกับเครดิตเทอมที่ยาวๆก็ทำให้สายป่านยาวไม่พอ หรือว่าทำเลที่ดูเหมือนดีแต่อาจไม่ดีจริง หรือว่าการเปิดร้านในห้างที่พึ่งเปิดที่เราไม่เคยเห็นภาพมาก่อนรวมถึงการขายฝันจากเจ้าหน้าที่ของห้างนั้นว่าจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งอาจไม่ได้ดีแบบนั้น หรือแม้แต่แผนดำเนินงานที่มีด้านเดียวแผนเดียวพอทุกอย่างผิดแผนก็อาจทำให้ไม่มีแผนสำรองและเจ๊งได้ หรือการหวังพึ่งพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าใดรายนึงมากเกินไปเมื่อเวลาที่ไม่เป็นอย่างที่คิดก็อาจส่งผลเสียที่แย่มากให้กับธุรกิจได้ และยังมีอีก 108 เหตุการณ์ที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะเจอก็จะได้เจอครบ คิดไว้แย่เท่าไร เจอแย่กว่าเดิมหลายเท่า 10 เท่า 100 เท่า ดังนั้นการเริ่มธุรกิจ หากเราคิดถึงปัญหาต่างๆที่อาจจะเจอ คิดเอาไว้ให้ได้มากที่สุดและหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นล่วงหน้าไว้ก่อนแม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้เรามีภูมิต้านทานในการทำธุรกิจ เพราะหากคุณเองยังไม่เคยระวังปัญหาเหล่านี้เอาไว้ ซักวันคุณก็ต้องเจอและเมื่อคุณเจอตอนที่คุณไม่พร้อมนั้น มันจะยิ่งแย่เป็นหลายๆเท่า แต่หากว่าการที่คุณพยายามนึกถึงปัญหาต่างๆแล้วยังพอหาทางแก้ไขได้ มันยิ่งทำให้คุณคิดต่อได้อีกว่า หากแก้ได้ ธุรกิจของคุณจะวิ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ และมีโอกาสจะอยู่รอดในธุรกิจนั้นๆได้


สุดท้ายฝากเอาไว้สีดำถึงจะไม่สวย แต่ก็เป็นสีที่มีอยู่จริง การคิดและเตรียมตัวล่วงหน้าเอาไว้เยอะ ย่อมทำให้เราสามารถวางแผนงานล่วงหน้าแลหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆได้ดีกว่า และอย่าลืมว่าต่อให้ธุรกิจนั้นมีโอกาสมากมายแค่ไหนมันอาจไม่มีประโยชน์เลยหากคุณผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไม่ได้ครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)

เราต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด (ตอนที่ 1)


เราต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด (ตอนที่ 1)


สวัสดีครับ คราวที่แล้วพูดถึงข้อดีของการขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด วันนี้จะตอบคำถามที่คิดว่าท่านคงสงสัยเลยว่า หลังจากรู้ตัวแล้วว่าต้องขายเข้าโมเดิร์นเทรด จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ลองดูลิสต์ตามนี้เลยนะครับ


1. เตรียมตัวเรื่องคุณภาพสินค้า

การขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดนั้นต้องพบกับความคาดหวังของลูกค้าสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพสินค้า แทบทุกที่จะเน้นมากโดยเฉพาะอายุสินค้า (Shelf life) เพื่อเป็นการรับประกันว่าสินค้าที่ห้างเหล่านั้นขาย จะมีคุณภาพที่ดี ไม่ให้เกิดการคืนสินค้า หรือเกิดการเสียหายให้น้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งข้อตกลงในกรณีสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่ง (โดยไม่ใช่ความผิดของทางห้าง) ดังนั้นเรื่องคุณภาพสินค้าจึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงนะครับ


2. เตรียมกำลังการผลิต

เรื่องต่อมาคือการสำรวจกำลังการผลิตของสินค้าเรานะครับ ในกรณีที่ไม่ได้ผลิตเองก็สำรวจกำลังการผลิตของซัพพลายเออร์เรา หรือจำนวนสินค้าคงคลังที่เราต้องแบกสต็อกไว้ว่าสามารถรองรับออเดอร์จำนวนมหาศาลได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องปรับปรุงกำลังการผลิตโดยด่วน แต่การปรับปรุงนี้อาจนำมาซึ่งการซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งต้องดูว่าเราจะค้าขายกับโมเดิร์นเทรดในระยะยาวหรือไม่ หรือเป็นเพียงชั่วคราว


3. เตรียมการจัดส่งสินค้า

นอกจากเรื่องการผลิตที่ต้องรับให้ไหวแล้ว การส่งสินค้าให้ตรงเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน โมเดิร์นเทรดนั้นพยายามบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้ตัวเองแบกรับภาระให้น้อยที่สุด จึงพยายามแบ่งภาระนี้ให้ซัพพลายเออร์ส่งของให้ถี่ขึ้นและทันเวลาทุกครั้งที่สั่งของ โดยมีตัววัดที่เรียกว่า Service Level อาจจะมีหลายๆ ครั้งที่ไม่สามารถส่งได้ตามกำหนด ซัพพลายเออร์ก็จะถูกวัดผลงานนี้ด้วยเช่นกัน


4. เตรียมเงินหมุนสำหรับธุรกิจ

การขายสินค้าที่ดีขึ้น การผลิตให้มากขึ้น รวมถึงแบกสต็อกเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมเงินหมุนให้มากขึ้นด้วย หากท่านยังมีเงินไม่พอ หรือหาแหล่งเงินเพิ่มไม่ได้ จะเกิดอาการขายดีแต่ไม่มีเงินใช้ กำไรตัวเลขแต่ในมือไม่มีเงิน ต้องวางแผนให้รัดกุมนะครับ เพราะกว่าเงินที่จะได้มาจากการขายก็ต้องรออีก 60-90 วัน จากเครดิตเทอมอีกทอดนึงด้วย


5. เตรียมกำลังคนฝ่ายขายและหน้าร้าน

เมื่อเราส่งสินค้าไปยังห้างแล้วไม่ได้แปลว่างานของเราเสร็จแล้วนะครับ มันไม่มีอะไรรับประกันว่าสินค้าจะถูกกระจายไปยังสาขาและถูกวางบน shelf เรียบร้อยตามที่คุยกับจัดซื้อไว้ เพราะการวางสินค้าหลายๆ ขั้นตอนก็ทำงานด้วยมือมนุษย์ ย่อมจะเกิดการผิดพลาดได้เหมือนกัน และสินค้าในห้างๆ หนึ่งก็มีหลักพันไปถึงหลักหมื่นรายการ ดังนั้นเราจึงต้องไปดูหน้าร้านด้วยตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นไปถึงหน้าร้านจริงๆ ไม่ใช่ค้างอยู่ในโกดังหรือหลังร้าน

วันนี้ขอเล่าเฉพาะภาพรวมธุรกิจที่ต้องเตรียมก่อนนะครับ คราวหน้าจะมาพูดถึงสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเข้าพบกับฝ่ายจัดซื้อของห้างครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ค้าปลีก หรือ Modern Trade ขั้นต่อของธุรกิจ SME


ค้าปลีก หรือ Modern Trade ขั้นต่อของธุรกิจ SME


ยอดขายของค้าปลีกทั้งหลายนั้น นับเฉพาะ แบรนด์ใหญ่ๆนั้นก็มีมูลค่ามากกว่า 3ล้านๆ ในปี 2557 ดังนั้นค้าปลีกเหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายหลักสำหรับบริษัทต่างๆไม่เว้นแต่ Sme ทั้งหลาย เนื่องจากหากเข้าค้าปลีกเหล่านี้ได้ ยอดขายจะพุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว มาดูกันดีกว่าว่า ค้าปลีกเหล่านี้แบ่งได้อย่างไรบ้าง


การแบ่งประเภทของค้าปลีกเหล่านี้นั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งก็คือ

· Food

        o Supercenter/hypermarket ปี 2557 มีสาขารวม 341 สาขา

        o Supermarket ปี 2557 มีสาขารวม 428 สาขา

        o Convenience Store ปี 2557 มีสาขารวม 12,451 สาขา

· Non-Food

        o Department store ปี 2557 มีสาขารวม 69 สาขา

        o Home Improvement & DIY ปี 2557 มีสาขารวม 178 สาขา

        o Consumer Electronic Appliance ปี 2557 มีสาขารวม 1,435 สาขา

        o Health & Beauty ปี 2557 มีสาขารวม 1,146 สาขา



การเข้าไปขายสินค้าในค้าปลีกเหล่านี้ จะเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับเจ้าของสินค้าทั้งหลาย ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไป หากสามารถเข้าได้ ก็จะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล คิดดูว่าในกลุ่มอาหารนั้นที่มี ทั้ง Super/hypermarket อย่าง Makro, Bigc, Tesco Lotus นั้นมียอดขายปีนึงรวมกัน 4 แสน-5 แสนล้านต่อปี หรือว่าจะเป็น CVS เช่น 7-11 ที่มียอดขายปีนึงมากกว่า 2แสนล้านต่อปี เหล่านี้เป็นแหล่งการต่อยอดให้ SME และเจ้าของสินค้าให้บินสูงได้ในเวลารวดเร็ว


แต่ว่าการเข้าไปขายกับ Modern Trade เหล่านี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ผู้ประกอบการหลายรายที่สามารถเข้าไปขายกับ Modern Trade เหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถจัดการหลังบ้านได้ดี รวมถึงไม่สามารถจัดการกับ cashflow ได้กลับเจอสภาพที่ย่ำแย่กว่าก่อนที่จะเข้าไปขายในค้าปลีกเหล่านี้ เพราะต้องอย่าลืมว่า อำนาจต่อรองที่มีนั้น เรามีน้อยมาก และกฏเกณฑ์ต่างๆที่เราไม่เข้าใจ ทำให้หลายๆกรณีเราเสียผลประโยชน์ไปแบบคิดไม่ถึง


โดยสรุป ต้องบอกว่าค้าปลีกเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีในการเติบโตของธุรกิจอย่างสูง แต่การจัดการหลังบ้านและความเสี่ยงต่างๆยังมีอยู่เยอะ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการให้ดีก่อนเข้าไปขายของให้กับค้าปลีกเหล่านี้ เรียนรู้ด้านดีและด้านลบ อย่ามองแค่ด้านบวกที่เป็นผลประโยชน์กับเราฝ่ายเดียว แต่หากทำได้และสามารถจัดการกับเรื่องต่างๆได้ ธุรกิจของคุณเองก็จะสามารถไปได้ไกล เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์ดังหลายแบรนด์ที่ใช้ค้าปลีกเหล่านี้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับคุณและความสามารถของคุณครับ และหากคุณมีสินค้าในหมวดไหน ก็ลองวิเคราะห์กันดูก่อนว่า สินค้าของคุณน่าจะเหมาะเข้ากับค้าปลีกประเภทไหน และจะสามารถทำยอดให้คุณมากขึ้นได้มากเพียงใดครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)

#ค้าปลีก






วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

5 ปัจจัยที่ทำให้ร้านค้าประสบความสำเร็จ


5 ปัจจัยที่ทำให้ร้านค้าประสบความสำเร็จ



วันนี้ขอพูดเรื่องปัจจัยที่จะทำให้ร้านค้าประสบความสำเร็จนะครับ เราจะไม่พูดถึงการตกแต่งให้สวยงาม การบริการที่ดี ฯลฯ เพราะเรื่องนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ลองมาดูว่า 5 ปัจจัยนี้เป็นอะไรบ้างนะครับ


1. มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน (Clear Target Customer)

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ครับว่าทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตบางที่ขายของแพงกว่าอีกที่ แต่ยังสามารถขายได้ และมีคนซื้อเยอะด้วย เหตุผลหลักมาจากกลุ่มลูกค้าเราคือใคร ผู้บริโภคทุกคนต้องไปซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน (FMCG = Fast Moving Consumer Goods) แน่นอน เพียงแต่ว่าจะซื้อที่ไหน เราคงไม่ค่อยได้เห็นคุณผู้หญิงแต่งตัวดีมีฐานะ ไปซื้อของที่ BigC หรือเซเว่นหน้าปากซอย แต่เราพวกเขาเหล่านั้นที่ Tops หรือ Villa Market แทน หรือเราอาจจะอยากไปซื้อเครื่องสำอางค์ที่ Watsons หรือ Boots แทนที่จะซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งที่ของมันเป็นประเภทเดียวกัน แถมราคายังแพงกว่าด้วย เพราะเราเชื่อว่าซื้อจากสองร้านนี้จะได้ความพอใจส่วนตัวเพราะเราได้เลือกของดีที่สุดจากทุกอย่างบน Shelf แล้ว (ทั้งที่ไปซุปเปอร์ก็ซื้อแบบเดียวกัน) เห็นมั้ยครับว่าการมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนสามารถทำให้เราแข่งขันกับผู้อื่นได้ แม้เราจะเล็กกว่าก็ตาม



2. มีสินค้าหรือบริการหรืออะไรก็ตามที่ดึงดูดให้คนไปหาได้ (Destination)

หากท่านเปิดร้านขายสินค้าไอทีที่ปากซอยหน้าหมู่บ้าน เพื่อขายสินค้าประเภท Gadget ให้กับคนทั่วกรุงเทพฯ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นทำได้ยากมาก หรือทำสำเร็จได้ก็ต้องเหนื่อยมากๆ เพราะท่านไม่มีแรงมากพอที่จะดึงดูดให้คนมาหาได้ การจะทำให้ลูกค้าเข้ามาหาได้มีอยู่สองทางคือ ไปอยู่ในแหล่งที่คนซื้อขายเยอะๆ ให้แหล่งนั้นดึงดูดคนมาหาเรา ซึ่งเราเรียกวิธีนี้ว่า Category Destination Stores ถ้าผมยกตัวอย่างว่าหากท่านอยากซื้อเสื้อผ้าต้องไปที่ประตูน้ำ อยากซื้ออุปกรณ์ไอทีต้องไปพันธุ์ทิพย์ อยากซื้อของแต่งบ้านต้องไปจตุจักร อยากซื้อกิ๊ฟช็อปต้องไปสำเพ็ง คงจะเห็นภาพขัดเจนนะครับ

อีกวิธีนึงคือร้านค้าประเภท Stand Alone วิธีนี้เหมาะสำหรับ Retailer รายใหญ่ที่สามารถสร้างตัวให้เป็นที่ดึงดูดลูกค้าได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างเหล่านี้จะหาจุดดึงดูคนเข้าห้าง เช่น มีโรงหนังอยู่ในตัว มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีร้านขายสินค้าแฟชั่น เป็นต้น หรืออย่างเช่นร้านค้า Outlet Mall ที่อยู่ตามชานเมือง ก็เป็นที่ดึงดูดเพราะมีสินค้าครบทุกแบรนด์เป็นตัวดึงลูกค้า เป็นต้น


3. โลเคชั่น

คำว่าโลเคชั่นไม่ได้หมายถึงสถานที่ตั้งอย่างเดียว แต่รวมถึงการบริหารจัดการทางเข้าออก การมีป้าย (signage) เพื่อให้ลูกค้าทราบ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ภายในร้านค้าด้วยนะครับ ลองนึกภาพห้างหรือแหล่งซื้อสินค้าที่ท่านอยากไปมากๆ แต่มองป้ายไม่เห็น ขับทีไรเลยทุกที หรือ ห้างที่รถติดมากๆ กว่าจะออกมาได้ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ไม่นับการหาที่จอดรถที่ต้องใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมง ร้านค้าทุกแบบก็พยายามจัดการปัญหาเหล่านี้ เช่น จตุจักรก็หาที่จอดรถให้มากขึ้น จัดระเบียบการจราจรใหม่ เป็นต้น



4. มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อจูงใจลูกค้า

เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมเราต้องลำบากขี่รถไปปากซอยเพื่อซื้อของที่เซเว่น ทั้งที่เราเดินไปสิบเก้าก็ถึงร้านโชห่วยใกล้บ้านเราแล้ว หรือการที่เราไม่รีบซื้อแชมพูขวดเล็กเพื่อรอไปโลตัสทีเดียวในวันหยุดและซื้อทีนึงเผื่อใช้ได้เลยเดือนนึง นี่เป็นเพราะการจูงใจลูกค้าเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการทำโปรโมชั่น เช่น ยอมขาดทุนลดราคาสินค้าตัวถูกๆ ตัวเดียว เพื่อให้คนเข้าห้างไปซื้อตัวอื่นที่กำไรดีกว่า (ไหนๆ เข้าห้างแล้วซื้ออย่างอื่นเลย จะได้คุ้มค่ารถ) หรือบางห้างเองก็มีการลดราคาสำหรับลูกค้าที่มาซื้อของในวันพุธ เพราะเป็นวันที่คนเดินเข้าห้างน้อยที่สุด เป็นต้น


5. มีบริการอย่างอื่นพิเศษนอกเหนือจากคู่แข่ง

เป็นอีกกลยุทธ์นึงสำหรับร้านค้าปลีกดังๆ เพื่อจะหนีสงครามราคา ไม่ว่าจะเป็นการให้สมัครสมาชิก ให้คะแนนสะสม แทนการลดราคาแบบปกติ การมีบริการรับชำระเงินเพื่อความสะดวก หรือมีบริการส่งของกลับบ้าน สำหรับท่านที่ไม่สะดวกขับรถมาเอง เป็นต้น

พอจะทราบเหตุผลของแต่ละร้านค้าและเหตุผลของผู้บริโภคในการเลือกร้านค้าปลีกแล้วนะครับ สามารถเอาไปปรับใช้ในการทำตลาดสำหรับธุรกิจท่านได้เลยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Modern Trade แบ่งเป็นกี่ประเภท


Modern Trade แบ่งเป็นกี่ประเภท



หลายท่านอาจมีธุรกิจที่จะต้องขายสินค้าผ่านช่องทาง Modern Trade บางธุรกิจอาจจะตั้งใจเข้าไปขาย บางแห่งอาจจะเข้าไปโดยบังเอิญ เพราะมี Modern Trade บางรายมาเชิญเข้าไปขายสินค้า ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก วันนี้ผมขอเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ ว่า Modern Trade แต่ละที่ เค้าเรียกว่าอะไร และขายใครบ้าง เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods) เท่านั้นครับ


1. Hypermarket ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่


ในเมืองไทยตอนนี้เหลือแค่ 2 รายหลักเท่านั้นก็คือ Tesco Lotus และ BigC (เมื่อก่อนมี Carrefour แต่ถูกขายให้ BigC ไปแล้ว) ห้างเหล่านี้พวกเราคงคุ้นกันอยู่แล้ว เพราะเค้าขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทุกอย่างที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ในบ้าน ของใช้ส่วนตัว รวมถึงสินค้าเบ็ดเตล็ด โดยที่สินค้าหลักๆ ของห้างเหล่านี้ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า อาหารสด ของแห้ง และสินค้าตามฤดูกาล
การทำตลาดของห้างเหล่านี้หลักๆ จะเน้นเรื่องราคาถูกที่สุดในตลาด เพื่อดึงคนเข้ามาในห้าง เพราะเชื่อว่าเมื่อเข้ามาในห้างแล้ว ลูกค้าจะไม่ซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียวแน่นอน



2. Supermarket ซูเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน ได้แก่ Tops, Home Fresh Mart (The Mall), Villa, MaxValu เป็นต้น
ปกติซูเปอร์มาร์เก็ตมักจะไม่ได้เป็นร้านค้าที่อยู่โดดเดี่ยว (Stand Alone) เพราะไม่สามารถดึงดูดให้คนตั้งใจมาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเท่าไหร่นัก สังเกตว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้นใต้ดินหรือชั้นล่างของห้างสรรพสินค้า อาศัยการดึงคนจากห้างสรรพสินค้า ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มให้ห้างสรรพสินค้ามากกว่าโดยที่สินค้าจะหลากหลายน้อยกว่า Hypermarket สินค้าหลักได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และของใช้ส่วนตัว กลยุทธ์ไม่ได้เน้นราคา แต่จะเน้นความสด สะอาด และคุณภาพของสินค้า



3. Convenience Store ร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ท
เมื่อพูดถึงร้านเหล่านี้ชื่อแรกที่ปรากฏออกมาคงหนีไม่พ้น 7-eleven นอกจากนี้ยังมี Lotus Express, Family Mart หรือร้านที่เปิดตามปั๊มน้ำมัน เช่น Jiffy, TigerMart อีกด้วย โดยจะเน้นขายสินค้าที่สร้างความสะดวกให้ลูกค้าเท่านั้น (สังเกตได้ว่าลูกค้าจะซื้อและบริโภคในระยะเวลาอันสั้น) โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็ก บริโภคเสร็จในครั้งเดียว และเน้นไปที่อาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก



4. Specialty Stores ร้านค้าขายสินค้าเฉพาะทาง
ถ้าพูดในเรื่องความหลากหลายต้องยกให้ Hypermarket หรือ Department Store แต่ถ้าพูดถึงความเชี่ยวชาญและลึก ต้องยกให้ร้านค้าประเภทนี้ Specialty Store ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีพื้นที่มาก แต่เน้นขายสินค้าเฉพาะหมวดและเจาะลึกเท่านั้น เช่น เน้นขายอาหาร (CP Fresh Mart) เน้นขายเครื่องใช้ส่วนตัว (Watsons, Boots) หรือเน้นขายยาและสินค้าสุขภาพ (Siam Drug) เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าบางอย่างหรือบางยี่ห้อ อาจจะเน้นขายแค่เหล่านี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็นสินค้าหายากมากกว่าจะขายใน Hypermarket)



5. Cash and Carry ตลาดสดและร้านค้าส่ง
ร้านค้าส่งในเมืองไทยตอนนี้มีรายเดียวคือ Makro เนื่องจาก Makro ขายสินค้าแบบส่ง (ทีละหลายชิ้น) ดังนั้นกลุ่มลูกค้าหลักจะไม่ใช่ผู้บริโภคทั่วไป แต่เป็นร้านค้าปลีกหรือมินิมาร์ทท้องถิ่น รวมถึงร้านอาหารที่ต้องการซื้อวัตถุดิบเพื่อไปปรุงต่อ เนื่องจากการค้าขายเป็นจำนวนมากๆ การซื้อขายจะเป็นแบบเงินสดเท่านั้น (ปัจจุบันนี้มีการเพิ่มให้ใช้บัตรเครดิตได้ด้วย)



คราวนี้คิดว่าทุกท่านคงแยกประเภท Modern Trade ออกได้คร่าวๆ เพื่อใช้ในการวางแผนขายสินค้าของท่านต่อไปในอนาคตได้นะครับ

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Partner ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง


Partner ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง


สำหรับผู้ที่อยากเริ่มธุรกิจส่วนตัว การทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าการตัดสินใจต่างๆสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ทิศทางการดำเนินธรกิจก็จะเป็นไปในทิศทางของเจ้าของเพียงคนเดียว แต่หากวันนึงที่จำเป็นต้องขยายกิจการและหาตัวช่วยที่สามารถมาช่วยเราให้ทำงานให้ได้มากขึ้นและไปได้มากขึ้น การหา Partner มาส่วนน้นเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ และที่สำคัญคือจำเป็นต้องหา Partner ดีๆ ด้วย Partner ดีๆนั้น จะทำให้เหมือนเสือติดปีกได้เลย


การเลือก Partner นั้น มีหลายเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ลักษณะการทำงาน, ทัศนคติ, ความสามารถที่มีและที่แตกต่าง, จริต, ความเข้าใจในงาน, ความเข้าใจในเป้าหมาย, ความรับผิดชอบ, การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน, ความซื่อสัตย์, ทุนทรัพย์ และอื่นๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้มีความสำคัญมากในการเลือก Partner เพราะเมื่อลงเรือลำเดียวกันไปแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการลงทุนเยอะๆ คุณจะถอนตัวได้ยากมาก และอาจต้องทนอยู่กับ Partner คนนั้นไปช่วงนึง หากจะเปรียบกับการแต่งงานก็คงไม่ต่างกันมาก


การมี Partner ที่ดีนั้นสามารถเป็น Key Success ของธุรกิจเลยก็ว่าได้หากเลือกได้ถูกคน เช่น เลือกคนที่มีความสามารถต่างจากเราและมาเติมเต็มในส่วนที่เราขาด หรือว่ามี Partner ที่มี Network ที่สามารถช่วยงานของเราให้โตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และคงบอกไม่ได้ว่า จะมีหลักเกณฑ์หรือกฏเกณฑ์การเลือกอย่างไร เพราะว่าแต่ละบุคคลนั้นก็มีจุดดีจุดเสียที่แตกต่างกัน เราจำเป็นต้องเข้าใจตัวเราเองก่อนว่าเราจำเป็นต้องการคนแบบไหนเข้ามาช่วยงานเราถึงจะสามารถเลือกได้


แต่ไม่ว่าจะเลือกอย่างไร สุดท้ายการอะลุ้มอะหล่วย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และการเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยบนพื้นฐานว่าคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในเรื่องของความคิด แบ็คกราวน์ พื้นฐาน ความรู้ความสามารถ และโลจิคต่างๆ และต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายสุดท้ายของการทำธุรกิจคืออะไร และเดิมตามเป้าหมายไปให้สำเร็จนั่นคือสิ่งสำคัญ


YES Club (Young Entrepreneur Society)





5 วิธีทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น


5 วิธีทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น


1.วางแผนงานแต่ละวัน: วางแผนงานแต่ละวัน ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง งานไหนเร่งด่วน งานไหนสำคัญ จัดความสำคัญของงานแต่ละอย่าง อย่าลืมว่างานแต่ละอย่างมีความเร่งด่วนไม่เท่ากัน และความสำคัญไม่เท่ากัน งานบางงานเป็นคอขวด หากเราทำช้า ก็จะทำให้คนอื่นทำงานช้าไปด้วยงานประเภทนี้ต้องรีบทำให้เสร็จก่อน ส่วนงานบางงานอาจจะเก็บไว้ทำตอนไม่มีเรื่องด่วนค่อยทำได้


2.จด to do: การจดรายการที่ต้องทำไว้หรือ To do นั้นจะทำให้เรารู้ว่าเราจะวางแผนการทำงานอย่างไร นอกจากนี้เรายังควรแยกออกเป็นโปรเจ็ค ว่าแต่ละงานแต่ละโปรเจ็ค มีอะไรต้องทำบ้าง แล้วในแต่ละวันพอเราเริ่มทำงานในแต่ละข้อ เราก็จะค่อยๆขีดคาดงานที่ทำเสร็จแล้วออกไป แล้วเชื่อเหอะครับ ตอนขีดออกไปทีละข้อนี่มันมีความสุขสุดๆ (แต่ระหว่างวันก็มีเขียนเพิ่มเข้ามาตลอด)


3.วัดผลจากงานที่ได้: เราต้องคอยประเมินตัวเองอยู่ทุกวัน ว่าแต่ละวันเราทำงานอะไรได้มากน้อยแค่ไหน และลองหาจุดอ่อนที่เรามี และทำการแก้ไข ในบางกรณีนั้นเราสามารถปรึกษากับทางหัวหน้าเราเพื่อหาวิธีปรับปรุงพัฒนาวิธีทำงานของเรา หรือสามารถไปอบรมเพิ่มเติมในหัวข้อที่เรายังด้อยได้


4.แชตและ social ให้น้อยลง: การแชตและการใช้โซเชียลต่างๆระหว่างทำงาน ถึงแม้ไม่ผิดกฏของบริษัท (แต่หลายที่ก็ห้ามใช้) แต่ก็ทำให้ประสิทธิภาพการทานลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ลองคิดดูว่า หากคุณกำลังทำงานกำลังทำงานกำลังพิมพ์งานซักพักนึงก็มีคนทักแชตมา คุณก็เสียเวลาไปตอบตอบไปตอบมา ก็หันกลับมาค่อยทำงาน กำลังจะพิมพ์งานต่อ มีคนทักมาอีก ไม่เพียงแค่เสียเวลา แต่ยังเสียสมาธิอย่างมาก ทำให้งานแต่ละอย่างต่อไม่ติดและยิ่งทำให้คุณเสียเวลาไปโดยคุณคาดไม่ถึง


5.ใช้เวลาตอนช่วงเช้าที่สมองสดใส ใช้คิดงาน: รีบเคลียร์งาน routine ต่างๆให้เสร็จเร็วไว และใช้เวลาช่วงเช้านั้นคิดงานและวางแผน เพราะว่าสมองตอนเช้านั้นจะมีไอเดียดีๆ และทำให้เราคิดอะไรได้เยอะ และหากงานที่ต้องทำประจำนั้นไม่จำเป็นต้องทำตอนเช้า ก็ยิ่งดีเลยเราก็เก็บมาใช้ตอนช่วงบ่ายๆทำงานแทน


เพียงทำแค่ 5 ข้อนี้ งานที่เคยทำได้น้อย ก็จะกลายเป็นมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเมื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราทำงานได้มากก็จะมีโอกาสประสบควาสำเร็จมากกว่าคนอื่น ยังไงลองทำกันดูนะครับ

YES Club (Young Entrepreneur Society)

#งาน #ประสิทธิภาพ

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เป็นพนักงานประจำก็ทำธุรกิจส่วนตัวได้


เป็นพนักงานประจำก็ทำธุรกิจส่วนตัวได้



เชื่อว่าคนทำงานประจำหลายๆคนก็มีความฝันที่จะทำงานของตัวเองวันใดวันหนึ่ง บางคนวาดแผนในอนาคตไว้ว่าวันนึงหลังจากวางมือจากงานประจำที่ทำอยู่ก็จะไปทำงานส่วนตัวที่เคยมองๆเอาไว้ ที่เตรียมไว้ ที่วางแผนไว้ ระหว่างทางก็เก็บเงินและประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เตรียมความพร้อมก่อนที่จะถึงวันนั้นเข้ามาจริง


แต่บางทีเราอาจไม่ต้องเลือกที่จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรอจนถึงจุดนั้นจุดนี้ ถึงจะเริ่มทำธุรกิจที่เราอยากทำ มันอาจจะสายไป ธุรกิจที่เรามองไว้อาจจะเปลี่ยนไป เราอาจจะเปลี่ยนไป ตลาดอาจจะเปลี่ยนไป หรือแม้แต่สุขภาพร่างกายอาจไม่เอื้ออำนวยก็ได้ ดังนั้นแทนที่เราจะรอไว้ให้เราพร้อมหรือวางมือจากงานประจำถึงจะเริ่ม ทำไมไม่เริ่มพร้อมๆกับการทำงานประจำไปเลยล่ะ


ผมมีเพื่อนหลายๆคนรวมถึงคนรู้จักหลายๆคนที่กำลังทำแบบนี้ งานประจำก็ทำ งานส่วนตัวก็ทำ และก็ทำควบกันโดยไม่ให้งานประจำเสีย ผมเชื่อว่าด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ๆนั้น ทำให้มันเอิ้อที่จะให้คนที่ทำงานประจำต่างๆสามารถทำงานประจำควบกับงานส่วนตัวได้ไม่ยาก ขึ้นอยู่กับการจัดการเวลา การวางแผนงานและที่สำคัญคือโมเดลทำธุรกิจครับ ต้องบอกว่า คุณเองในฐานะพนักงานคนหนึ่ง จำเป็นต้องรับผิดชอบงานของบริษัทให้เต็มที่ และหากทำแบบนั้น คุณจะเหลือเวลา ช่วงหลังเลิกงานและวันเสาร์อาทิตย์เต็มๆ เพื่องานส่วนตัวคุณ


ด้วยการทำงานส่วนตัวนั้น อาจจะไม่ใช่ทุกอย่างที่เหมาะกับการทำงานไปพร้อมกับธุรกิจ แต่อย่าลืมว่า หากเราสามารถบริหารได้ เราเลือกที่จะจ้างคนเก่งๆมาช่วยงานเรา ไม่ว่าจะ outsource และเริ่มต้น model ธุรกิจของคุณในแบบนั้น ลองคิดถึงธุรกิจออนไลน์ ขายของออนไลน์ การลงทุนในหุ้น ขายตรง การสอนพิเศษ ธุรกิจเทรดดิ้ง ส่งออก และด้วยเครื่องมือออนไลน์ที่พัฒนาไปเยอะไม่ว่าจะเป็น social network อย่าง facebook หรือ line หรือ instragram นั้นสามารถทำให้เราสามารถทำงานต่างๆให้เดินได้ถึงแม้เราจะยังทำงานประจำกันอยู่ และเมื่อคุณทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนรายได้ของงานเสิรมที่คุณมองไว้ นั้นเริ่มทำรายได้ให้กับคุณได้ไม่น้อยกว่างานประจำ คุณเองก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้แล้วว่า คุณต้องการใช้ชีวิตแบบไหน หากยังต้องการทำงานประจำควบคู่ไปกันคุณก็ยังสามารถทำได้ หรือว่าจะเลือกลาออกจากงานประจำมาเพื่อทำงานส่วนตัวของคุณอย่างเต็มที่ก็สามารถทำได้โดยไม่กระทบกับรายได้ที่เคยได้


สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไร คุณจะต้องบริหารเวลาให้ดี เลือกโมเดลและเลือกธุรกิจให้เหมาะสม และที่สำคัญ หาพาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจและฝากชีวิตเอาไว้ได้ เพราะคุณอาจต้องขอความช่วยเหลือจากพาร์ทเนอร์ต่างๆเหล่านี้ จงใช้ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานให้มากที่สุดและอย่าให้คุณทำงานให้กับเทคโนโลยีครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)

#ธุรกิจ #งานประจำ #ออนไลน์

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แฟรนไชส์ธุรกิจ ทางเลือกสำหรับคนอยากทำธุรกิจ


แฟรนไชส์ธุรกิจ ทางเลือกสำหรับคนอยากทำธุรกิจ


การทำธุรกิจนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าการจะเริ่มจาก 0 เอง การเริ่มค้นคิดค้นคว้ารายละเอียดทุกอย่างด้วยตัวเอง หรือการเริ่มทำธุรกิจด้วยการทำแฟรนไชส์

การทำแฟรนไชส์นั้นคือการที่เจ้าของธุกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้นได้ทำการศึกษารายละเอียดและได้ทำธุรกิจนั้นๆจนประสบความสำเร็จ และสามารถทำเป็น standard เพื่อแนะนำแนวทางการทำธุรกิจไปให้กับผู้ที่สนใจได้ หรือจะเรียกง่ายๆว่าคัมภีร์ ทางเจ้าของธุรกิจนั้นบุกเบิกธุรกิจนั้นๆขึ้นมาจนมีความชำนาญและเข้าใจตลาดเป็นอย่างดี จึงเริ่มถ่ายทอดวิชาในคัมภีร์ที่ได้สรุปมานั้นผ่านช่องทางของแฟรนไชส์ โดยที่ แฟรนไชส์นั้นๆก็จะได้ค่าตอบแทนจากคนที่สนใจนำแฟรนไชส์นั้นๆ ไปทำตลาดและเริ่มธุรกิจได้เลย ส่วนรายละเอียดนั้นก็แล้วแต่ว่าแต่ละเจ้าของแฟรนไชส์ต้องการอะไรตอบแทน หรือว่าขอบเขตค่าใช้จ่ายจะครอบคลุมอะไรบ้าง โดยทั่วๆไปก็จะมี ค่าแรกเข้า ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่าสูตร ค่าวัตถุดิบ และอื่นๆแล้วแต่ลักษณะของธุรกิจ

การทำแฟรนไชส์นั้นเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจเนื่องจากว่าสามารถเรียนรู้ know how ได้ทันทีหากต้องการเริ่มธุรกิจเพราะว่าทางเจ้าของแฟรนไชส์นั้นจะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ ช่วยสอนช่วยฝึกจนเราจะชำนาญในการทำธุรกิจและกลายเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญและโตไปด้วยกันไป และธุรกิจแฟรนไชส์นั้นก็มีให้เลือกมากมายหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการ ร้านค้า ค้าปลีก เราสามารถเลือกธุรกิจที่เหมาะสมกับความต้องการของเราได้ทันที (แต่ศึกษารายละเอียดแฟรนไชส์ดีๆก่อนนะครับเพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกันเท่าไร)

นอกจากนี้ไม่ใช่ดีเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มธุรกิจเท่านั้น เจ้าของธุรกิจก็สามารถขยายและเพิ่มรายได้ของธุรกิจได้โดยผ่านช่องทางของแฟรนไชส์ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า ได้ประโยชน์กันทั้งสองทางกันเลยทีเดียว ทางสมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และไลเซ่นนั้นได้ทำการสรุปภาพรวมของตลาดแฟรนไชส์ไว้ และตลาดมีขนาดใหญ่ถึง 1.25 แสนล้านบาทและมีการเติบโตเรื่อยมา และจากการจัดอันดับของ thaifranchise นั้นเชื่อมั้ยครับว่า 10 อันดับแรกนั้น เป็นอาหารและเครื่องดื่มไปถึง 8 รายการมีเพียง 2 แฟรนไชส์เท่านั้นที่เป็นค้าปลีกและ supermarket ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ธุรกิจที่คนยังให้ความสนใจในการเปิดแฟรนไชส์ก็ยังเป็นอาหารอยู่

สุดท้ายฝากกันเอาไว้ว่า การทำธุรกิจทุกอย่างมีความเสี่ยง ถึงแม้ว่าการทำแฟรนไชส์นั้นจะสามารถลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ และต่อให้ค่าใช้จ่ายในการเริ่มไม่ได้สูงมาก แต่มันก้คงดีกว่าถ้าคุณศึกษาดีๆและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าไปลุย อย่างน้อยกำกระสุนไว้อยู่ในมือ ยิงให้ตรงเป้า ดีกว่าการยิงสาดไปและทำให้กระสุนเราเสียไปไม่เป็นเรื่องอยู่ร่ำไปครับ และหากคิดวิเคราะห์มาดีแล้ว ทางเลือกการทำแฟรนไชส์ผมเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งครับ และขอฝากไว้คำนึงครับ “if you can’t beat them, join them” หรือว่าถ้าคุณคิดว่าธุรกิจไหนดี และเราเองก็ไปแข่งด้วยยาก ก็เข้าร่วมซะครับ วันศุกร์แล้วเที่ยวและพักผ่อนกันให้เต็มที่นะครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)


#ธุรกิจ #แฟรนไชส์ #ธุรกิจแฟรนไชส์

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

10 เหตุผลสุดฮิตในการลาออก


10 เหตุผลสุดฮิตในการลาออก


ช่วงกลางๆปีแบบนี้ อารมณ์ทำงานมันหนืดๆ ช่วงโบนัสก็เลยไปแล้ว กับบางคนช่วงนี้ก็ว่างเกิน เพราะยังไม่ใช่ช่วงปั๊มยอดแบบสิ้นปี บางคนก็งานล้นมือเพราะว่าเป้าปีนี้ไม่เข้าเป้า เหนื่อยมากๆมาทั้งปี เรามาดูกันดีกว่าว่า เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้คนตัดสินใจย้ายงาน (มานับกันว่ามีคนละกี่ข้อ)


1.เบื่อหัวหน้า: เหตุผลหลักเหตุผลนึงในการลาออกของพนักงานทั่วไป จนขนาดมีคนเคยบอกว่า พนักงานเข้าร่วมงานเพราะบริษัทและลาออกเพราะหัวหน้า จะบอกแบบนี้ก็ไม่ผิดเพราะว่าการทำงานนั้นหัวหน้าเป็นส่วนสำคัญมากๆ เราใช้เวลาทั้งวันในการทำงานและจำเป็นต้องทำงานร่วมกับหัวหน้าเรา การได้หัวหน้าดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่หากได้หัวหน้าไม่ดี ก็ทำให้การทำงานของเรานั้นเป็นเรื่องที่ทุกข์ได้มากเช่นกัน


2.งานเยอะเกิน: สำหรับคนงานเยอะเกิน และต้องเบียดเบียนเวลาส่วนตัว ก็จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจย้ายงาน เพราะว่า การใช้เวลาทำงานเยอะ อาจทำให้เสียสุขภาพและทำให้เครียดเกินขนาด เป็นอีกเหตุผลหนึ่งทีทำให้พนักงานลาออก (เพื่อไปทำงานเยอะกับอีกที่)


3.ไม่มีความก้าวหน้า: ความก้าวหน้าในการทำงานสำหรับพนักงานทุกคนแล้ว เชื่อได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพนักงานแต่ละคนเสียเวลาเข้ามาทำงาน นอกจากผลตอบแทนแล้ว ความก้าวหน้าก็ทำให้สามารถตัดสินใจย้ายงานได้เช่นกัน เพราะว่าการทำงานซ้ำๆ ที่ไม่มีความก้าวหน้า ก็ทำให้พนักงานกลุ่มนั้นไม่สามารถพัฒนาความสามารถตัวเองได้ หัวหน้างานหรือเจ้าของควรจะเลือกที่จะให้พนักงานที่มีความสามารถได้มีความก้าวหน้าและพัฒนาความสามารถตัวเองอย่างพอเหมาะ


4.ได้ข้อเสนอที่ดีกว่า: ต้องบอกว่าเป็นเหตุผลหลักก็ว่าได้ในการย้ายงาน แต่ว่าก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวในการย้ายงาน หลายๆสาเหตุที่กล่าวมานั้นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้พนักงานอยากย้ายงานและเมื่อย้ายงานการได้ข้อเสนอที่ดีกว่าจะยิ่งทำให้พนักงานคนๆนั้นสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น (เช่นว่า หากต้องเจอเรื่องแย่ๆหลายๆเรื่องในออฟฟิต เจอเรื่องแย่ๆแล้วการได้รับเงินที่มากขึ้นก็อาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า....มั้ย)


5.มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน: คล้ายๆกับหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงานที่ทำงานนั้นเราต้องเจอหน้าบ่อยกว่าคนในครอบครัวด้วยซ้ำ นั่งทำงานด้วยกัน เจอหน้ากันเช้าจรดเย็น หากเกิดปัญหาแล้วการต้องอยู่ออฟฟิตทั้งวันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะตัดสินใจย้ายงานได้ไม่ยาก


6.อยู่ในส่วนงานที่ไม่ชอบ/ไม่ถนัด: ความถนัดแต่ละคนไม่เหมือนกันรวมถึงความชอบด้วย การต้องไปทำงานในส่วนที่ไม่ถนัดบ่อยๆและนานเข้า ก็ทำให้พนักงานหลายคนตัดสินใจลาออกจากงาน ไม่ใช่แค่ว่าเป็นความไม่ชอบ แต่มันรวมถึงผลงานที่จะทำได้ออกมาด้วย เพราะเทียบกันแล้วหากไม่ถนัด ก็ยากที่จะทำให้ออกมาดีได้ ในหลายๆกรณี พนักงานหลายคนเข้าร่วมงานกับบริษัทๆ นึงด้วยตำแหน่งงานนึง แต่ระหว่างทางที่มีพนักงานในส่วนอื่นๆลาออกไปและพนักงานคนนั้นต้องไปรับผิดชอบงานในตำแหน่งนั้นแทนก็เกิดความไม่ถนัด และต้องลาออกในที่สุด ดังนั้นทางบริษัท หัวหน้า และตัวพนักงานเองก็จำเป็นต้องเข้าใจเหตุการณ์และต้องมีการพูดคุยกันถึงเนื้องานที่จะต้องไปทำด้วย เพราะมันคงไม่เป็นผลดีกับฝ่ายไหนหากจะดันทุรังให้คนๆนึงต้องไปทำงานที่ไม่ถนัดและจบด้วยการลาออก


7.รายได้ไม่พอ: เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนตัวน้อยกว่ารายได้ อันนี้ต่อให้เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุขอย่างไร เมื่อไม่พอใช้ พนักงานก็จำเป็นต้องลาออกเพื่อไปหางานที่พอกับรายจ่าย ทางแก้ไขอีกทางนึงคือการบริหารการใช้จ่ายอย่างพอเหมาะ


8.อยากทำธุรกิจส่วนตัว: ฝันของพนักงานหลายๆคนในการทำงาน คือการไปทำธุรกิจส่วนตัว บ้างออกไปแล้วสำเร็จ บ้างออกไปแล้วล้มเหลว แต่ทุกๆวันก็ยังมีคนลาออกไปตามล่าฝันกันอยู่ โดยส่วนตัวเชื่อว่าหัวหน้าทุกคนยินดีที่ลูกน้องได้ออกไปทำตามฝันและเจริญเติบโต สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเตรียมตัวให้พร้อม การเข้าใจธุรกิจให้ดี การคิดแผน ทำ Business Model เพื่อให้เราเตรียมตัวได้ถูกนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ในหลายๆกรณี เรายังสามารถทำงานประจำไปได้พร้อมกับงานส่วนตัวโดยไม่เสียงานทั้งคู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาของเราด้วย ดังนั้นในกรณีนี้ การลาออกอาจจะต้องคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนลาออกจริง เพราะเมื่อลาออกไปแล้วเงินเดือนที่มีอยู่ จะไม่มีอีกแล้ว ทีนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือและใจคุณเองแล้วว่าจะทำได้ดีแค่ไหน


9.เดินทางไกล: ต่อให้มีรถไฟฟ้า หรือขนส่งมวลชนหรือรถยนต์ส่วนตัว การเดินทางไกลนั้นเป็นเหตุผลทีทำให้พนักงานต่างๆจำเป็นต้องย้ายไปใกล้กับที่ทำงาน หรือย้ายที่ทำงานให้ใกล้กับบ้าน นอกจากนี้รถที่ติดมากๆทุกวันนี้ในหัวเมืองใหญ่ๆเช่นกรุงเทพ ก็ยิ่งทำให้พลังและเวลาในแต่ละวันหมดไปกับการเดินทางด้วย


10.ติส: ไม่มีอะไรมาก ไม่มีเหตุผล แต่อยากออก แฮปปี้ดีกับที่ทำงาน แต่อยากออกมา...


ถึงแม้จะมีเหตุผลมากมายในการลาออก แต่อย่าลืมว่าการลาออกด้วยอารมณ์ชั่ววูบ อาจทำให้การใช้ชีวิตต้องอึดอัดและเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้การย้ายงานบ่อยๆอาจจะทำให้การพัฒนาความสามารถต่างๆต้องหยุดชะงักและทำให้นายจ้างต้องคิดพิจรณาเยอะขึ้นในการรับคนที่ย้ายงานบ่อยๆ สุดท้าย หากจะย้ายงานจริงๆ ขอให้เป็นเหตุผลทีตกผลึกมาอย่างดีและคุ้มในการย้ายงานนะครับ การย้ายงานไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติ ใจเขาใจเรา อย่ามัวคิดด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง เพราะโลกใบนี้มันเล็กเหลือเกิน บางครั้ง ลูกน้องเรากลายเป็นหัวหน้าในอีกองค์กร บางครั้งกลายเป็นลูกค้าเราได้ในอนาคต


ฝากไว้ให้คิดนะครับสำหรับคนทำงานทุกคน “อยู่ให้รัก จากให้คิดถึง”

YES Club (Young Entrepreneur Society)

#ทำงาน #ธุรกิจ #อาชีพ #ลาออก






วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

4 ข้อคิดสำหรับธุรกิจบน Social Media




อ่านเจอกระทู้ ในพันทิป ว่าใน Facebook Fanpage มีคนไลค์ 3 แสน แต่ขายไม่ดีเลย โพสแต่ละทีก็มีคนเห็นน้อยมาก  ทำยังไงดี..

เห็นปัญหาดังกล่าว เลยอยากจะมาฝากข้อคิด สัก 4 อย่าง สำหรับคนที่ค้าขายผ่าน Social Media ทั้งหลายนะครับ

กระทู้ตามในลิ้งค์ครับ   มีคนไลค์ 3 แสน  แต่ขายไม่ดี



1. คิดยาว อย่าคิดสั้นๆ
Facebook, IG และ Social Network ต่างๆ มันคือ ช่องทางการขาย และ ทำตลาดใน ระยะสั้น  (สั้นมากๆ) เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงเร็ว เราไม่รู้ว่า พรุ่งนี้จะมีอะไรมาใหม่หรือเปล่า  คนจะเปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นหรือไม่ หากทำธุรกิจโดยพึ่งพาแค่ Facebook หรือ IG  อาจจะไม่ยั่งยืนครับ  


2. นับคนซื้อ ไม่ใช่คนไลค์
จำนวนคนไลค์ คนแชร์ คนคอมเม้น ไม่สำคัญ เท่าจำนวน คนซื้อครับ  บางเพจ บางIG มีลูกค้ามากดไลค์ กดตาม แค่ หลักร้อย หลักพัน แต่ขายดีกันน่าดู เพราะทุกคนที่เข้ามาไลค์ คือลูกค้าที่ต้องการจะซื้อสินค้าเกือบทั้งหมด  อย่าไปมัวหลงไปตามกระแส และ ความรู้สึกดีเวลามีคนไลค์ คนแชร์ เยอะๆ  จริงอยู่ครับ  มันทำให้คนเห็น แบรนด์ เห็นสินค้าคุณเยอะขึ้น  แต่ประเด็นคือ  คนที่เห็น มันใช่ กลุ่มเป้าหมายของคุณหรือเปล่า  ยกตัวอย่างเช่น  ดาราถือสินค้าของคุณ แชร์กันสนั่นออนไลน์ คนเห็นเป็นแสนๆ  แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกแฟนคลับดารา ซึ่งอาจจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าของคุณ (ถ้าใช่ก็ถือว่าคุ้มครับ) กลับกัน  โพสในกลุ่มเล็กๆ มีคนหลักร้อย แต่ ในนั้น เป็นลูกค้าเกือบทั้งหมด โอกาสการขายน่าจะสูงกว่าครับ  เพราะฉะนั้น เราเลือกเอาแค่คนที่ใช่ ก็พอครับ  ดูคุณภาพ อย่าไปสนใจ ปริมาณ


3. ราคาแพงขึ้นทุกวัน
สื่อonline ในช่องทางต่างๆ ก็ต้องมุ่งหารายได้กันทั้งนั้นครับ ไม่มีใครให้บริการเราฟรีๆจริงๆ  Facebook ตอนนี้ เริ่มปรับ Organic Reach ให้น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเพิ่มเงินโฆษณามากขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ ทั้ง Facebook ทั้งไลน์  ปรับเงินค่าโฆษณากันน่าดูในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา    หากเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ก็คุ้มครับ เพราะยังถือว่าถูกว่า TV   แต่ สำหรับ SME ผมว่ามันก็ไม่ถูกเหมือนแต่ก่อนแล้วนะครับ

4. มองหาโอกาสในช่องทางอื่นๆไว้บ้าง
อย่างที่บอกไว้ในข้อแรก Social  Network มันเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เราไม่รู้จะมีอะไรมาใหม่ๆอีก เมื่อไหร่ ดังนั้น ควรมองหาช่องทางการขาย หรือ การขยายธุรกิจ ไปในช่องทางอื่นๆ ไว้บ้างครับ ทางที่ดี อย่าใช้สื่อพวกนี้เป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว  ใช้มันเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ แล้วเรามี ฐานของเราอยู่ที่อื่นด้วย  เช่น Website เราเอง หรือ มีหน้าร้านจริงๆเลย  หรือ อาจจะมองวิธีในการกลับมาขายในช่องทางปกติ  ในการวิ่งหาลูกค้า ออกงานแสดงสินค้าต่างๆ  ผมเห็นหลายธุรกิจ เริ่มจาก ช่องทาง IG หรือ FB  พอเริ่มขายดี  เจ้าของก็เริ่มออกมาตั้ง Kiosk ขาย, วิ่งไปขายตามงานต่างๆ เริ่มมีหน้าร้าน  จาก 1 สาขา กลายเป็น 2, 3, 4    หากทำได้แบบนี้ ธุรกิจน่าจะไปได้ไกลครับ  

 
Social Media ต่างๆ มันเป็นเพียงแค่ช่องทางนึงในการประชาสัมพันธ์ครับ ขายครับ   ซึ่งปัจจัยต่างๆที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อ  มันยังเหมือนเดิมตั้งแต่สมัยก่อนมาจนถึงปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง  นั่นคือ   สินค้าต้องดี   แบรนด์ดูน่าเชื่อถือ  ราคาเหมาะสม  บริการการขายการจัดส่งดี  ติดต่อสื่อสารง่าย   สรุปคือ ต้องมีแผนธุรกิจ โมเดลธุรกิจ และ การทำแผนการตลาดที่ดี ควบคู่ไปด้วย

จำนวนไลค์ จำนวนแชร์ มันเป็นแค่ ตัวเลขที่บอกว่ามีกี่คนที่รู้จัก และ บอกต่อ  แต่มันไม่ได้บอกว่า เค้าซื้อ และ เค้าชอบ สินค้าและแบรนด์ของคุณนะครับ อย่าไปหลงกับ ไลค์ กับ แชร์ จนมากเกินไปนะครับ  

ตั้งสติ แล้ว กลับมามองที่ธุรกิจในความเป็นจริงดีกว่า
เพราะยังไงซะเราก็ต้อง Balance กันให้ได้ระหว่าง โลกออฟไลน์ กับ โลกออนไลน์ ครับ  
อย่าไปเพิ่งเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง


ARA
#Socialmedia #ขายออนไลน์
 

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เพิ่มยอดขายจาก Product Line



เพิ่มยอดขายจาก Product Line



หลายๆคนหลายๆธุรกิจ บางทีก็เดินมาถึงจุดที่ไม่รู้จะไปต่อยังไง ยอดขายก็ดันขึ้นไม่ได้ จะขายเยอะขึ้นก็ไม่รู้จะทำยังไงได้อีก นอกจากขยายตลาดไปเรื่อยๆ จะมีทางไหนมั้ยที่จะเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยซื้อสินค้ากับเราได้ ส่วนเรื่องเพิ่มราคาเนี่ย เป็นเรื่องที่ยากจริงๆเพิ่มแล้วแทนที่รายได้จะเพิ่ม ลูกค้ากลับหนีไปซะอีก

อีกกลยุทธ์นึงที่ทำได้คือการเพิ่มไลน์สินค้าเข้าไป ยกตัวอย่างนะครับ สบู่ 1 ก้อน ปกติคนอาบน้ำสองเวลา คนขายสบู่ก็จะขายได้ปกติ และคนใช้ก็ใช้ทุกวันเท่าๆกัน อยู่ๆ ก็มีสบู่ล้างมือขึ้นมา ที่คนสามารถล้างมือได้หลังจากเข้าห้องน้ำ หรือว่าสบู่สำหรับจุดซ่อนเร้น หรือสบู่ล้างหน้าขึ้นมา หรือแม้แต่พวกครีมโลชั่นต่างๆหลังจากอาบน้ำเสร็จต่างๆเหล่านี้ ด้วยตัวอย่างง่ายๆแบบนี้เราก็จะเห็นภาพว่า การเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมโดยที่ไม่ต้องไปบังคับให้ลูกค้าใช้มากขึ้นเพราะว่ามันอาจจะใช้เยอะขึ้นไม่ได้แล้ว จะเพิ่มยอดขายโดยการเพิ่มราคาอันนี้ก็ยิ่งแย่ การเพิ่มไลน์สินค้าอาจจะช่วยให้เราสามารถขายสินค้าเยอะขึ้นให้กับกลุ่มเป้าหมายเดิมของเราได้

กลับมาที่สินค้าคุณ ลองหาจุดใหม่ๆ อะไรที่จะขยายเพิ่มได้ ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย แต่คิดให้ดีให้สอดคล้องกับผู้บริโภค บางทีเราอาจจะทำกำไรเพิ่มขึ้นได้มากมาย หากเรารู้จักผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายของเราดีพอครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)


#ธุรกิจ #กลยุทธ์

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

5 สิ่งที่ควรทำเพื่อให้ธุรกิจของคุณเติบโต




5 สิ่งที่ควรทำเพื่อให้ธุรกิจของคุณเติบโต


เมื่อตัดสินใจโดดออกจากเรือลำใหญ่มาลงเรือของตัวเองกันแล้ว ทางที่ทำได้ก็แค่การทำให้ธุรกิจและฝันของเราไปถึงฝั่งฝันให้ได้ ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ forbes เกี่ยวกับคำแนะนำเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ธุรกิจของ SME ทั้งหลายหรือแม้แต่คนที่ลาออกมาเป็น startup กันให้สามารถเติบโตกันได้ ซึ่ง มีทั้งหมด 5 ข้อที่เราควรจะรู้กันและนำไปปฏิบัติเพื่อให้ธุรกิจคุณเติบโตกัน

1. หาที่ปรึกษาดีๆ: สำคัญมากๆ ในทุกๆธุรกิจ การหาที่ปรึกษาดีๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่มืออาชีพในเรื่องนั้นๆมาช่วยให้คำปรึกษา ประสบการณ์และมุมมองเค้าจะสามารถมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราขาดได้เป็นอย่างดี อย่าไปจำกัดว่า การทำงานส่วนตัวธุรกิจส่วนตัวจะต้องเป็นการทำคนเดียว เราต้องเก่งเองทั้งหมด ต้องเข้าใจว่าเราไม่มีทางเก่งเองทุกเรื่องได้ อาจจะรู้ได้ทุกเรื่องแต่เก่งทุกเรื่องนั้นทำได้ยากมาก สู้เอาเวลาที่จะไปรู้ทุกเรื่อง หาตัวช่วยมาช่วยเราคิดได้ดีกว่า

2. ออกกำลังกายบ้าง: การออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรง ผ่อนคลายจากความเครียด และทำให้สมองเราโปร่ง นอกจากนี้ยังเป็นตัวกระตุ้นทัศนคติชั้นดี เนื่องจากการออกกำลังกายจำเป็นต้องมีวินัยมาก และต้องทำต่อเนื่องกันเป็นเดือนๆปีๆ หรืออาจจะตลอดไป เช่นเดียวกับการทำงานครับ

3. ตั้งตารางการทำงาน: อย่าคิดว่าการที่ทำธุรกิจของคุณเองแล้วคุณจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ก็อาจจะทำได้แบบนั้น แต่การทำให้ระบบงานและตารางเวลาชัดเจนว่าในหนึ่งวันคุณต้องทำอะไรบ้าง จะทำให้คุณสามารถเคลียร์งานได้เยอะอย่างที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียวละ ถ้าโจทย์คือการเติบโตของธุรกิจ การตั้งตารางการทำงานและทำให้ได้ตามที่เราตั้งไว้จะช่วยให้ธุรกิจของเราเติบโตได้ไม่ยาก

4. วิเคราะห์จุดอ่อนของคุณเอง: ไม่มีใครไม่มีจุดอ่อน มีทุกคน อย่าพึ่งคิดว่าเป็นเรื่องไม่ดี การที่เรารู้จุดอ่อนได้ ทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจลดน้อยลง และเราสามารถหาทางแก้ไขที่ดีขึ้นเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีขึ้นได้ เราอาจจะแก้ไขที่เราโดยตรง หรือหาตัวช่วย หรือหามืออาชีพมาช่วยติวมาช่วยเราทำในเรื่องที่เราไม่ถนัดได้

5. ตั้ง Deadline: การตั้ง deadline ไว้ทำให้การทำงานไม่ย้วย และมีกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรเสร็จเมื่อไร หากย้อนกลับไปเมื่อวัยเรียน การอ่านหนังสือเตรียมสอบจะไม่ใช่เรื่องยากเลยหากในแต่ละวันเรากำหนดเอาไว้ว่าต้องอ่านส่วนไหนมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่ที่ทำกันคือ ไปอ่านมัน 2-3 วันก่อนสอบ (ผมก็ทำ 55) ดังนั้นการตั้ง deadline ที่ดีจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และนี่ก็คือ 5 วิธีง่ายๆที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ครับ 

YES Club  (Young Entrepreneur Society)

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Internal Brand ปรับลุคองค์กรจากข้างใน



Internal Brand ปรับลุคองค์กรจากข้างใน


ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ ต่างปรับตัวเพื่อให้เข้ากับผู้บริโภคในทุกๆด้าน การทำ branding ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างนึงที่หลายๆองค์กรกำลังจะปลุกปลั้นให้เป็นกัน และจะคุ้นเคยกับว่า ทำแบรนด์ๆๆๆ โดยมีที่ปรึกษาด้านการตลาด ด้านโฆษณามาช่วยกันคิดกันทำเต็มไปหมด ให้ทั้ง corporate brand และ product นั้นมีกลยุทธ์การทำแบรนด์ที่ดีกัน

แต่เราลืมอะไรกันไปรึเปล่าครับ การทำแบรนด์นั้นจริงๆ มันคือภาพรวมทั้งหมดขององค์กร ไม่ใช่แค่การใส่เสื้อสีเดียวกัน หรือแค่การเปลี่ยนแพ็คเกจ การเปลี่ยนโลโก้ หรือว่าทำชื่อแบรนด์เท่านั้น แต่มันคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรและดึงคุณค่าขององค์กร ใส่กลับลงไปใน corporate brand และสินค้า ด้วยเหตุผลนี้ การทำแบรนด์จะไม่ต้องพยายามทำอีกต่อไปเพราะเมื่อองค์กรนั้นๆเป็นแบรนด์นั้นเองแต่แรก ไม่ต้องสร้างไม่มีความจำเป็นต้องจับยัดความเป็นอะไรบางอย่างลงไป

ยกตัวอย่างเช่น องค์กรๆนึงเป็นบริษัทเก่าแก่ตั้งมานานหลายสิบปี มีนโยบายการดำเนินงานที่ค่อนข้างจะล้าหลังและโบราณ แต่สินค้าที่ขายนั้น อยากจะปรับภาพเป็นสินค้าที่ทันสมัย ด้วยชื่อแบรนด์ ด้วยโลโก้ แพ็คเกจจิ้งที่สวยงามดูน่าหลงไหลและทันสมัยมาก ซึ่งไม่แปลก สามารถทำได้ ไม่มีอะไรผิดและไม่มีใครห้ามนะครับ และส่วนมากก็ทำแบบนี้ แต่สิ่งที่ผมกำลังจะบอกคือ หลังบ้านซึ่งมีคนตัวเป็นๆ กำลังทำสินค้าออกไปขาย สร้างภาพต่างๆนานาเพื่อให้สินค้าตัวนี้ดูทันสมัย แต่คนหลังบ้านกลับไม่ได้รู้สึกไปในทางเดียวกัน มันไม่ช่วยให้งานง่ายขึ้นเลยครับ

ลองคิดดูว่าอย่างตัวอย่างที่ยกไป หากองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ทันสมัย พนักงานทำงานกันด้วยความสนุกและมีความคิดสร้างสรรค์ตลอด เรียกได้ว่าเป็นองค์กรของคนรุ่นใหมไฟแรงอย่างแท้จริง และเมื่อองค์กรแบบนี้ทำแบรนด์ออกมาเพื่อสื่อถึงความทันสมัย สินค้าและองค์กรรวมถึงพนักงานในองค์กรจะเป็นสิ่งเดียวกัน พนักงานทุกคนไม่ต้องพยายามสร้างภาพ ไม่จำเป็นต้องพยายามเป็นในสิ่งที่เค้าไม่ได้เป็น ดังนั้น จะดีกว่ามั้ยถ้าวันนี้เราจะทำ Brand โดยการสร้าง DNA ของ Brand ผ่านวัฒนธรรมองค์กรก่อน สร้างจากความเชื่อขององค์กรแล้วค่อยส่งต่อ value ไปต่อยังผู้บริโภค เราเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวเรา เราเริ่มจากสิ่งที่เราเป็น ทำให้พนักงานรู้สึก องค์กรอย่างที่ผมยกตัวอย่างไป สามารถ renovate สามารถตบแต่งและเลือกคนที่มีความทันสมัยเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมให้สอดคล้องกลับแบรนด์ได้จะช่วยส่งเสริมและทำให้พนักงานก็เชื่อในสิ่งที่เค้ากำลังทำ มากกว่าเป็นบริษัทคร่ำครึ ห้องทำงานเก่า อุปกรณ์ต่างๆดูล้าหลัง มันจะไม่สร้างความเชื่อให้กับพนักงาน และเมื่อพนักงานไม่เชื่อ เค้าก็จะส่งต่อไปยังสินค้าต่างๆ ทำให้หลายๆครั้ง แบรนด์ที่พยายามจะเป็นบางอย่าง จึงไม่ได้เป็นมาจากข้างในและในท้ายสุดก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

ดังนั้นหากจะเริ่มทำแบรนด์ไม่ว่าจะทำภาพลักษณ์ขององค์กรหรือสินค้า อย่าลืมที่จะเริ่มด้วยการสร้างวัฒนธรรมและความเชื่อจากภายในกันก่อนนะครับ และสิ่งที่ได้ผลลัพธ์กลับมาจะเกินกว่าสิ่งที่คุณคาดเอาไว้แน่ๆครับ

YES Club (Young Entrepreneur Society)

#แบรดน์ #branding #strategy



วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

จงโฟกัสในสิ่งที่เราถนัด



จงโฟกัสในสิ่งที่เราถนัด

ในโลกนี้แต่ละคนแต่ละองค์กรจะมีความถนัดแต่ละอย่างที่ไม่เหมือนกัน คนในองค์กรก็ถนัดไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับแต่ละแผนกที่ต่างคนต่างความรับผิดชอบ เพราะความถนัดที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น บัญชี การเงิน การตลาด การผลิต ล้วนแต่มีควาสามารถในมุมที่ต่างกันออกไป

คุณเองและธุรกิจคุณเองก็เช่นกัน คุณจะรู้ตัวดีที่สุดว่าคุณถนัดอะไรและไม่ถนัดอะไร เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่างถึงแม้เราจะต้องรู้ทุกอย่าง แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว การที่เรารู้ว่าเราไม่เก่งอะไรและเก่งอะไร ทำให้เราสามารถไปโฟกัสสิ่งที่เราถนัด และให้คนที่เก่งในเรื่องที่เราไม่ถนัดสามารถมาช่วยอุดรูรั่วนั้นได้

การโฟกัสไปยังสิ่งที่เราถนัดนั้น ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง คุณเป็นโรงงานผลิต ผลิตสินค้าให้กับคนมีอายุ คุณเก่งผลิตและเข้าใจเรื่องการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยปกติคุณจะผลิตและนำสินค้าไปขาย พูดง่ายๆก็คือผลิตเองแล้วขายเอง ทำแบบนี้มาตลอด วันนึงอยากจะขยายตลาดไปยัง segment อื่น โดยที่คุณก็ยังอิงกับตลาดผู้สูงอายุอยู่เช่นเดิมแต่คราวนี้คุณเลือกที่จะไปทำธุรกิจ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และถึงแม้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน อายุ เหมือนกัน มีลักษณะต่างๆเหมือนกันหมด แต่การทำธุรกิจต่างกันสิ้นเชิง เพราะครั้งนี้คุณกำลังก้าวไปอยู่ในธุรกิจบริการ ซึ่งจะมีโครงสร้างและจุดตายของธุรกิจที่แตกต่างจากการผลิตอย่างสิ้นเชิง ในแง่ของการผลิตแล้วคุณอาจจะเป็นอันดับต้นๆของประเทศได้ไม่ยากเพราะว่าเทคโนโลยีและความชำนาญนั้นคุณสะสมมามากมายหลายสิบปี แต่สำหรับธุรกิจบริการนั้นคุณคือเด็กอมมือคนนึงที่ไม่ได้เปรียบอะไรใครมากเท่าไร จะดีหน่อยก็แค่ว่า คนกลุ่มนี้จะพอรู้จักคุณบ้าง แต่ก็ในฐานะอื่น และเมื่อคุณก้าวเข้าสู่ธุรกิจบริการ การแข่งขัน เวทีการต่อสู้ กระบวนท่าต่างๆ ย่อมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผมกำลังจะบอกว่าคุณสามารถทำได้ แต่ข้อได้เปรียบไม่ได้อยู่ที่คุณอีกแล้ว

ดังนั้นท้ายสุดและสุดท้าย การโฟกัสในจุดแข็งที่เรามีเป็นเรื่องที่น่าทำ พยายามหาจุดแข็งของตัวคุณเองที่คนอื่นทำได้แย่กว่า และพยายามต่อยอดจากจุดแข็งของคุณไปยังธุรกิจอื่นที่ยังใช้จุดแข็งของคุณได้

หากให้นกแข่งกับปลา ลิงแข่งกับนก ก็ยากจะบอกใครชนะ จนกว่าคุณจะบอกว่าแข่งอะไร และแข่งที่ไหน? หาสนามแข่งที่เป็นสนามของคุณในการทำธุรกิจให้เจอครับ นั่นจะเป็นสนามที่คุณจะชนะได้ทุกคู่แข่ง ขอให้โชคดีครับ

#ธุรกิจ #การแข่งขัน

YES Club (Young Entrepreneur Society)

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เลือกตลาดดีมีชัยไปกว่าครึ่ง


เลือกตลาดดีมีชัยไปกว่าครึ่ง


การทำตลาดบางทีจากเรื่องง่ายๆก็กลายเป็นเรื่องยาก บางครั้งเรื่องยากๆก็กลายเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่เราเลือกตลาดที่เหมาะสมได้ เรื่องยากจะง่ายทันที โดยที่เรายังไม่ต้องไปทำอะไรกับสินค้า ไม่ต้องตั้งราคาใหม่ หรือว่าทำอะไรให้มันวุ่นวายเยอะแยะ

ผมเห็นตัวอย่างง่ายๆกับเหตุการณ์รถติดนรกแตกเมื่อวาน (วันจันทร์) ที่ฝนตกหนักมาก รถติดยาว ส่วนใหญ่เดินทางกัน 2-3 ชม สินค้าอย่างหนึ่งกลับขายดีขึ้นมาคืออะไรรู้มั้ยครับ....... น้ำดื่มขวด......... คงงงละสิครับว่าน้ำดื่มขวดทำไมขายดี คนหิวน้ำตอนรถติดหรอ เปล่าเลยครับ กลับกันต่างหาก คือซื้อน้ำปุ้ปเทน้ำทิ้งทันที แค่อยากได้ขวดเปล่าๆ สำหรับคนที่ทนไม่ไหวอยากเข้าห้องน้ำตอนรถติดจัดๆ น้ำดื่มแสนธรรมดาสามารถขายได้ดิบได้ดี

อีกตัวอย่างหนึ่งหน้าออฟฟิต ร้านขายข้าวแกงธรรมดา รสชาติธรรมดา ราคากับข้าวถุงละ 20 บาท แต่ขายรวมเป็น set มีข้าว 1 ถุงพร้อมน้ำดื่ม 1 แก้ว ขาย 35 -40 บาท แต่ขายดีมากทำมาแค่ไหนก็ขายหมด เพราะตอนเช้าจะมีพระมาบิณฑบาตรในละแวกใกล้ๆนี้ มนุษยเงินเดือนที่มีเวลาน้อย ก็จะมาซื้อข้าว set นี้พร้อมกับข้าวตักบาตรกันทุกเช้า

อีกตัวอย่างละกัน เวลารถติดๆ จะเห็นมั้ยครับว่าวันธรรมดากับวันเสาร์อาทิตยของที่เอามาขายจะต่างกัน ที่ผมสังเกตุเห็นในแยกไฟแดงแถวๆบ้านนั้นวันธรรมดาช่วงเช้าจะเน้นขายพวงมาลัย และช่วงเสาร์อาทิตย์จะเน้นขาย ปืนฟองสบู่ ไม้ขนไก่ ไม้กวาดขนาดยาว นึกออกมั้ยครับทำไมต้องแตกต่างกัน เพราะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันยังไงครับ วันธรรมดาที่คนทั่วไปขับรถไปทำงานกัน การซื้อพวงมาลัยเป็นเรื่องที่ดีมากในชั่วโมงเร่งด่วน และกับของใช้ในครอบครัวไม่ว่าปืนสบู่หรือไม้กวาดต่างๆ นั้นแน่นอนจับกลุ่มตลาดครอบครัว ที่มีเวลามาเที่ยวกันพักผ่อนกันในวันอาทิตย์

นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆที่เราอาจจะลืมหรือมองข้ามไป บางทีเราเอาสินค้าที่เรามีอยู่ ไปขายแค่เปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย สินค้าแสนธรรมดาของเราอาจจะขายได้ดีเทน้ำเทท่าก็ได้ครับ ใครมีตัวอย่างอะไรน่าสนใจมาแชร์กันได้เลยครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)

#กลุ่มเป้าหมาย #กลยุทธ์ #การตลาด

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

กลยุทธ์การตลาดอะไรสำคัญที่สุด?



กลยุทธ์การตลาดอะไรสำคัญที่สุด?




หากเราอิงตาม 4 P หรือ Product Price Place Promotion เหล่านี้เป็นส่วนผสมการตลาดที่เป็นพื้นฐานของการทำการตลาดและการทำธุรกิจ ถึงแม้จะมีโมเดลอะไรใหม่ๆเต็มไปหมด แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ยังต้องยึดตามพื้นฐานจาก4 ตัวนี้อยู่ดีคุณคิดว่า P อะไรสำคัญที่สุดครับ บทความนี้ไม่ใช่คำตอบนะครับเป็นแค่มุมมองส่วนตัวของผมเท่านั้น



สำหรับผม ผมต้องบอกก่อนว่าเพื่อให้การแข่งขันนั้นเป็นการแข่งขันที่เราสามารถแข่งขันได้มากกว่าเดิมหรือเป็นการสร้าง competency ที่ดีและคนอื่นยากที่จะเหมือนเราและจุดนั้นจะเป็นจุดที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ดีได้ งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าแต่ละ P เป็นอย่างไร



Product หรือสินค้า สำหรับสินค้าที่เป็น commodityหรือสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ในฐานะเจ้าของสินค้าหรือธุรกิจนั้น คุณไม่มีข้อได้เปรียบใดๆเลย สินค้าเกษตร ทอง น้ำมัน หรือแม้แต่สินค้าอีเล็คโทรนิคที่เป็นโรงงานโดยไม่มีการกำเทคโนโลยีสำคัญๆไว้กับตัว สินค้าเหล่านี้แทบจะเหมือนกันได้ทุกบริษัทหรือทุกแบรนด์ ดีขึ้นมาหน่อยคุณจะมีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีดีไซน์ของตัวเอง มีเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น มีการผลิตด้วยวัตถุดิบที่หายาก ในกรณีนี้การลอกเลียนแบบอาจจะยากขึ้นแต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว คุณจะเห็นบ่อยๆว่าสินค้าเหล่านี้สามารถถูก็อปปี้ได้เร็วมาก ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าที่พึ่งเดินบน catwalkเวทีดังๆ หรือแม้แต่จากการประกาศออสการ์เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นแบบเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูกลอกเลียนแบบไปตัดเรียบร้อยในห้องเสื้อหลายๆที่แล้ว หรือแม้แต่มือถือยี่ห้อดังๆแค่เพียงตัว mock up หลุดออกมาหลังจากนั้นไม่นานยี่ห้ออื่นๆก็สามารถทำเลียนแบบได้ มีเพียงสินค้าในโลกนี้ไม่กี่อย่างที่คนไม่สามารถก็อปปี้หรือหาสินค้าทดแทนได้ และดีขึ้นมาอีกหน่อยอาจจะเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากแต่ตัวอย่างหลายอย่างก็บอกแล้วว่าไม่เสมอไป ไม่ว่าจะเป็น pepsi หรือ pizza hut ที่เป็นแบรนด์ระดับโลกนั้นก็เคยเจอเหตุการณ์ที่แบรนด์ไม่ช่วยอะไรมาแล้ว



Price หรือราคา ของสินค้าและบริการ ถึงแม้ว่าโครงสร้างต้นทุนและการผลิตจะต่างกัน แต่การตั้งราคาสามารถตั้งเหมือนกันได้ง่ายมาก หรือแม้แต่ตัดราคาให้ราคาถูกกว่ากันได้ อย่างเดียวสำหรับราคาถ้าคุณจะกำความได้เปรียบคือ คุณสามารถมีวิธีที่จะผลิตหรือบริหารให้ต้นทุนต่ำมากๆ ต่ำจนขนาดว่าคู่แข่งคุณตั้งราคาตามคุณเมื่อไร จะขาดทุนทันทีหากคุณทำแบบนี้ได้คุณจะกำความได้เปรียบในการแข่งขันนี้มาทันที แต่ถ้าไม่มี ราคาจะเป็นสิ่งที่เลียนแบบกันง่ายมาก และเดี๋ยวนี้มีผู้ประกอบการมากมายไม่คิดมากเรื่องนี้ เอาราคาคู่แข่งเป็นหลัก ให้ใกล้เคียงกันหรือถูกกว่านิดหน่อย แล้วไปบริหารหลังบ้านกันเอง



Promotion หรือการโฆษณา/การทำโปรโมชั่น ตัวโฆษณาอาจจะทำใกล้เคียงได้และหากตลาดทำโฆษณาใกล้เคียงแบบเดียวกันเยอะๆมันจะกลายเป็นโฆษณาที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ เช่น แชมพู หรือว่าสินค้าใช้ภายในบ้านต่างๆ ต้องบอกว่าใกล้เคียงกัน คนที่งบเยอะๆกว่าอาจจะสร้างความแตกต่างและจดจำได้มากขึ้นสำหรับแบรนด์ แต่สำหรับโปรโมชั่นแล้วการเลียนแบบและสร้างความแตกต่างกันทำได้ยากมาก ชาเขียวสองยี่ห้อเคยแจกทองเหมือนกัน แจกไอโฟนเหมือนกัน ไปเที่ยวญี่ปุ่นเหมือนกัน แจกรถ (ต่าง segment) แต่ก็แจกรถแบบเดียวกันอยู่ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความได้เปรียบเท่าไรเลย



Place หรือช่องการจำหน่าย ผมให้คะแนนตรงนี้มากๆคุณจะเลียนแบบช่องทางจำหน่ายใครไม่ได้ อันนี้มันเป็นความสามารถส่วนตัวจริงๆ สมมติว่า7-11 มีพื้นที่ให้ สองยี่ห้อสำหรับ น้ำปลา คุณเป็นหนึ่งในสอง และยอดขายคุณทำได้ดีมากๆใน7-11 ต่อให้คนอื่นอยากเข้าก็ทำยาก คุณไม่สามารถอยู่ๆเอาของคู่แข่งคุณออกจาก shelf ได้คุณไม่สามารถควบคุมได้ คุณเป็นผู้ถูกเลือกเท่านั้นในเกมนี้ นอกจากนี้หากคุณมีร้านเอง และทำเลร้านคุณดีมากๆ คู่แข่งคุณอาจจะมาเปิดแข่งใกล้ๆคุณ แต่ในหลายกรณีก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะว่าบางทีที่ที่คุณเปิดร้านนั้นเป็นที่ของคุณเอง คุณไม่ต้องเช่าใครและเมื่อไม่ต้องเช่าก็ไม่มีค่าใช้จ่ายและเมื่อไม่มีค่าใช้จ่ายการตั้งราคาก็ทำได้ง่ายกว่าคนที่มีค่าเช่า หรือแม้แต่ช่องทางขายอื่นๆเช่นออนไลน์ การทำเพจบน fb หรือการทำอะไรก็แล้วแต่ คู่แข่งคุณอาจะเปิดเพจแข่งกับคุณได้แต่เค้าไม่สามารถ copy กลยุทธ์ทั้งหมดไปได้หรือแม้แต่จะรู้กลยุทธ์ว่าคุณทำอะไรบ้างอาจจะยังยากด้วยซ้ำ ดังนั้นผมถึงให้คะแนนตรงนี้มากที่สุดและหากคุณมีกลยุทธ์ที่ดีในการยึดพื้นที่ช่องทางจำหน่าย ผมมั่นใจว่าคุณจะสามรถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันผ่านช่องทางจำหน่ายได้ดีที่สุด (นั่นเป็นเหตุว่าทำไมmodern trade จึงเติบโตแบบก้าวกระโดดในไทยและมีพลังมหาศาลในการทำธุรกิจ)



สุดท้ายนี้อย่างที่บอกไปนี่คือไอเดียของผมเท่านั้นจากประสบการณ์ที่เจอ จากงานที่ทำ จากธุรกิจที่ผมทำ ผมเชื่อว่าหากเรายึดช่องทางที่ดีได้ เราจะได้ความได้เปรียบในการแข่งขันมาอยู่ในมือเราจริงๆ ขอให้โชคดีในการแข่งขันครับ ใครคิดต่างยังไงเชิญคอมเม้นท์ได้นะครับ



YES Club (Young Entrepreneur Society)



#กลยุทธ์การตลาด #ความได้เปรียบการแข่งัน

เรามีข้อมูลที่มากพอหรือยัง?



เรามีข้อมูลที่มากพอหรือยัง?




วันนี้ผมเองได้คุยกับเพื่อนคนนึง กำลังจะเริ่มทำธุรกิจร้านเสื้อผ้าและรีสอร์ท ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการเถียงกันไปมาระหว่างการเลือกทิศทางและรูปแบบ ซึ่งบอกยากว่าใครผิดใครถูกอาจจะผิดทั้งหมด หรืออาจจะถูกทั้งหมดก็ได้ ผมเชื่อว่าตัดสินยากมาก แต่สิ่งที่จะช่วยในการตัดสินใจให้คมขึ้นคือข้อมูลครับ



เริ่มแรกเราอาจจะตั้งสมมติฐานขึ้นมาก่อน หากอันนี้ตกลงกันได้สเต็ปต่อไปไม่ยากครับ สมมติฐานแรกเลยคือกลุ่มเป้าหมาย เช่นว่าเป็นพนักงานออฟฟิต อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ อายุ 30-40ปี รายได้ต่อเดือน 30,000 – 60,000 บาท ยังไม่มีครอบครัวทั้งผู้ชายและผู้หญิง สมมติว่ากลุ่มเป้าหมายแบบนี้ เราก็ทำการคิดต่อไปว่า สินค้าและอะไรทั้งหมดควรจะเป็นแบบไหนเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายนี้ เราสามารถจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็ได้ หรือเราจะนั่งเทียนก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าเป็นผม ผมจะไปคุยกับกลุ่มเป้าหมายก่อนเลย ลองหาคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเรา ลองไปนั่งคุย เพื่อนๆ เพื่อนของเพื่อน คนรู้จัก ไปนั่งคุยดูหลายๆคนไม่ต้องจริงจังมากครับ คิดอะไรก็ถามไปเลย ถามไปเรื่อย หากออกแบบมามีตัวอย่างก็ให้เค้าเลือกเลยครับ คุยไปเรื่อยๆ ไม่ต้องจดบันทึกอะไรมากมายแต่พยายามจับไอเดียหลักๆให้ได้ว่า กลุ่มนี้ บุคคลนี้ต้องการอะไร และสอดคล้องกับสิ่งที่เราคิดไว้ในตอนแรกมากน้อยแค่ไหน คุยไปเรื่อยๆ 10-20 คนเราจะเริ่มได้ไอเดียละ ไม่ต้องเอามาคิดเป็นสถิติอะไรให้มากมาย เพราะอย่างที่รู้กันว่าด้วยจำนวนคนประมาณนี้คิดเป็นสถิติยาก แต่สิ่งที่คุณจะได้คือไอเดียจากกลุ่มเป้าหมายจริงๆในเชิงลึก ยิ่งถ้าคุยกันหลายๆคนและคอนเฟิร์มสิ่งที่คุณคิด คุณจะเริ่มมั่นใจได้แล้วว่าน่าจะเป็นไปได้ นี่คือสิ่งที่คุณจะได้มาแบบราคาถูกมากไม่ต้องไปจ้างบริษัททำวิจัยใดๆ คุณมีปัญหาอะไรคุณอยากรู้อะไรก็ถามไปเลย และเมื่อย้อนกลับไป ณ ความขัดแย้งทางความคิดตอนแรก คุณอาจจะได้คำตอบที่ดีมากขึ้น การเถียงกันเป็นเรื่องดี แต่การเถียงกันด้วยความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่ดี การมีข้อมูลในมือและเถียงกันด้วยข้อมูลหรือเถียงกันด้วย factย่อมดีกว่าการเถียงกันเพราะความรู้สึกส่วนตัว “ผมคิดว่า/ผมเชื่อว่า/ผมมั่นใจว่า........ “ ทั้งหมดทั้งปวงที่มันเป็นสิ่งที่คุณคิดไปเองโดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเท่าไร



นอกจากนี้เมื่อเราได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว เราจะลองเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆจากในอินเตอร์เน็ตหรือข้อมูลต่างๆที่มีอยู่แล้วอีกทีก็ได้ครับจะได้ดูว่ามันสอดคล้องกันอย่างไร หากคุณต้องไปติดต่อบริษัทวิจัยนอกจากจะเสียเวลาเยอะแล้ว ผมเชื่อว่าหลายๆคนยังไม่เข้าใจกลไกการทำวิจัยที่ดีพอและคุณอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่ตรงใจเท่าไรแถมยังเสียเงินเยอะอีกด้วย



สุดท้ายนี้ฝากไว้ว่าในการตัดสินใจทุกๆอย่าง ขอให้ในมือมีข้อมูลบางอย่างที่มากพอในการตัดสินใจ อย่าตัดสินใจลอยๆเพียงเพราะคุณคิดว่าหรือมีคนบอกมา ให้ใช้เหตุผลและสิ่งที่สนับสนุนความคิดคุณมาตัดสินใจด้วยครับ





YES Club (Young Entrepreneur Society)
#ข้อมูล #การตัดสินใจ #การทำธุรกิจ

การแก้ปัญหาและคิดแบบสร้างสรรค์



การแก้ปัญหาและคิดแบบสร้างสรรค์




ในระหว่างผมทำงานประจำได้เคยไป workshopนึงซึ่งผมเองก็ชอบมากๆอันนึง เป็นworkshop ที่ว่าด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เรามักจะเจอปัญหาคิดอยู่ในกรอบ แก้ปัญหาเดิมกับการทำงานแบบเดิมๆ ด้วยการตั้งการ์ดการตั้งข้อจำกัดที่มากมายสำหรับเราๆกันและเราก็จะเจอกับปัญหาเดิมๆ และก็จะวนเวียนกันอยู่แบบนั้นไปเรื่อยๆ ใครทนได้ก็จะทนไปเรื่อยๆ ส่วนคนทนไม่ได้ก็จะยอมแพ้ถอยกันไป



แล้วมันใช่วิธีที่ถูกแล้วหรือยัง ไอน์สไตน์เคยบอกว่ามันคงจะบ้ามากหากเรายังดันทุรังทำแบบเดิมๆเพื่อที่จะให้ได้ผลลัพท์ใหม่ๆ และมันก็ใช่เพราะการกระทำแบบเดิมๆซ้ำๆไปเรื่อยๆคุณก็จะได้แค่ผลลัพท์เดิมๆ แล้วทำไมไม่ลองทำอะไรใหม่ๆดูครับ คำถามคือแล้วจะทำได้ยังไง?



ลองคิดมุมกลับดูครับ เอาข้อจำกัดทั้งหลายวางเอาไว้ แล้วสมมติว่า วันนี้คุณสามารถรื้อทั้งระบบได้แบบไร้ข้อจำกัดคุณจะ design แผนการหรือระบบทั้งหมดอย่างไร แค่นั้นเองเลยครับ โรงงานของคุณจะวาง layout แบบเดิมมั้ย คุณจะจ้างคนเยอะเท่านี้มั้ย สินค้าที่คุณขายจะยังขายสินค้าตัวเดิมมั้ย กลุ่มเป้าหมายยังเป็นแบบเดิมรึเปล่า ทีมงานคุณจะเป็นทีมงานนี้มั้ย ทุกๆอย่างรื้อใหม่หมดเลย แล้วคุณจะเชื่อว่าคุณเจอทางแก้ปัญหาที่ดีมากๆ ในหลายๆเคสผมได้ใช้โมเดลนี้กับธุรกิจคนใกล้ตัว กลับเจอเรื่องที่เหลือเชื่อคือ เมื่อเอาข้อจำกัดต่างๆเช่นว่า เราไม่มีทุนหรอก เรามีโรงงานอยู่ เรานี่เรานั่นเหตุผลร้อยแปดออกไปให้หมด แล้วคุณจะรู้สึกตัวเบาอย่างเหลือเชื่อและจะมีมุมมองแปลกๆกับธุรกิจคุณได้อย่างเหลือเชื่อ บางทีเรามัวทีจะดันทุรังแก้ปัญหาเดิมๆ กับวิธีเดิมๆเราก็จะได้ผลลัพธ์เดิมๆ วันนี้ลองมองมุมใหม่ๆบ้างครับ อย่าเอาข้อจำกัดทั้งหลายมาบอกว่าเราควรเดินแบบไหน สุดท้ายแล้วเราอาจจะเจอทางเดินที่ดีกว่าเดิม และมันควรจะดีกว่าเดิมครับ ลองเอาไปใช้กันดูครับ ลองเอาจินตนาการให้สุดๆไปเลยขอให้สนุกกับจินตนาการนะครับ



YES Club (Young Entrepreneur Society)



#การแก้ปัญหา #ความคิดสร้างสรรค์ #การทำธุรกิจ

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว


ชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว




สำหรับหลายๆคนแล้วเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกันและในหลายๆครั้งการทำงานของเราก็ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตส่วนตัวเท่าไร ผมเคยเจอเพื่อนบางคนที่ชีวิตการทำงานนั้นกับชีวิตส่วนตัวเข้ากันได้เป็นอย่างดี และนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะทั้งหมดทั้งปวงการทำงานจะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเราๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วนั้นด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่างทำให้ยังไม่สามารถผสมชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดี



และสำหรับคนทำงานไม่ว่าจะทำงานประจำหรือทำงานส่วนตัว อย่างหนึ่งที่เราควรคิดก่อนทุกๆครั้งที่เราเลือกจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราควรคิดว่า งานๆนั้นธุรกิจนั้นๆเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการในการใช้ชีวิตของเราหรือไม่ ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้จักตัวเราเองก่อนครับว่า ชีวิตของเราจริงๆแล้วต้องการใช้ชีวิตแบบไหนเช่นว่า ตอนนี้อยากทำงานไปและมีเวลาเลี้ยงลูกได้ /ชอบทำงานเป็นเวลา/ ชอบทำงานเยอะๆ / ชอบทำงานต่างจังหวัด/ ชอบทำงานอิสระ หรืออะไรก็ตามครับตามความอยากของเรา เราสามารถเลือกได้ว่าเราชอบแบบไหน พูดง่ายๆเป็นการตั้งเป้าหมายของการใช้ชีวิตกับการทำงานให้สอดคล้องไป ที่เหลือก็เป็นงานของคุณเองแล้วว่าจะเลือกงานแบบไหน แม้แต่ว่าธุรกิจส่วนตัวของคุณเองก็แล้วแต่ เผลอๆยิ่งง่ายด้วยเพราะเป็นธุรกิจของคุณที่คุณสามารถออกแบบได้ว่าคุณต้องการให้ธุรกิจของคุณเป็นแบบไหน และหากเป็นคนทำงานประจำคุณก็มีทางเลือกอยู่ดีแหล่ะครับว่าคุณจะทำอะไรแบบไหน อาจไม่ใช่ทุกบริษัทที่เป็นแบบที่คุณต้องการ แต่อย่างน้อยคุณก็ยังมีทางเลือกให้หางานเพื่อตอบรับความต้องการของคุณได้ หรือในกรณีแย่สุดคุณอาจลองหางานส่วนตัวทำไปด้วยตอนทำงานก็ได้ครับ



สุดท้ายนี้ก็อยากจะฝากไว้กับทุกๆคนว่าเรามีสิทธิ์เลือกได้เต็มที่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความต้องการของเรา อย่าพึ่งรีบปฏิเสธความต้องการของเราด้วยคำว่าไม่มีหรอก เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่รู้จะทำมันให้ตรงกับความต้องการของเราได้อย่างไร อย่างน้อยเราลองตั้งเป้าแล้วลองหาวิธีดูผมเชื่อว่าทำได้ครับ

YES Club (Young Entrepreneur Society)

#ชีวิตการทำงาน#ชีวิตส่วนตัว

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

7 สาเหตุที่ทำให้แบรนด์ “พัง !!”





หนึ่งในกลยุทธ์ของการทำธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการทุกคนในยุคนี้รู้ และ ก็ยินดีที่จะทำก็คือ  การสร้างแบรนด์”   เพราะการมีแบรนด์ จะเป็น ประโยชน์อย่างมหาศาลต่อธุรกิจของคุณ ถ้าคุณสร้างแบรนด์เป็น และ ทำมันได้ออกมาอย่างดี

หากคุณสร้างแบรนด์ได้ดี  ประโยชน์ที่จะได้รับต่อธุรกิจของคุณคือ ธุรกิจคุณจะเป็นที่รู้จัก เป็นที่จดจำ มีการมองเห็นและแยกแยะความแตกต่างระหว่างคุณกับคู่แข่งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยัง ทำให้ลูกค้าและผู้บริโภค มีความชื่นชอบ มีความเชื่อถือในแบรนด์และธุรกิจของคุณ และ กลายเป็น ลูกค้าขาประจำ ที่ไม่ว่าคุณจะทำกิจกรรมอะไร หรือออกสินค้าอะไรมา ลูกค้าเหล่านั้นก็พร้อมและเปิดใจที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆที่คุณทำออกมาเสมอ เมื่อลูกค้ายอมรับในธุรกิจและแบรนด์ของคุณ การต่อรองในการค้าขายกับคู่ค้าต่างๆก็ง่ายมากขึ้น  สุดท้ายมันก็จะส่งผลดีต่อยอดขาย ต่อธุรกิจ ต่อผลกำไร และ ความยั่งยืนในระยะยาวของธุรกิจของคุณ 

แต่ก็มีหลายๆผู้ประกอบการที่พยายามจะสร้างแบรนด์ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ล้มหายตายจากกันไปมากมาย  และ นี่ก็เป็นสาเหตุหลักๆ 7 อย่างที่ เขาได้ทำพลาดกันครับ

1.ไม่เข้าใจว่าการสร้างแบรนด์คืออะไร (ไม่ใช่แค่สร้างภาพ)
หากคุณยังคงเข้าใจว่า การสร้างแบรนด์ ก็แค่ ทำโลโก้ ทำ Packaging ทำ Design และ การนำเสนอต่างๆให้มันสวยๆ เท่ห์ มี Theme สี ที่ดี”  คุณกำลังเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลยล่ะครับ  การสร้างแบรนด์ ไม่ใช่แค่การโฆษณา หรือ การทำประชาสัมพันธ์ สร้างภาพสวยๆ..  แต่มันคือ แก่นหลักของการทำธุรกิจ ของคุณเลยล่ะ  คุณอยากให้แบรนด์คุณเป็นอย่างไร  ธุรกิจ และ พนักงานของคุณ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น  การบริหารงาน การผลิต ทุกๆอย่าง ต้องสอดคล้องกันนะครับ 
หลายๆแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ออกมาได้สวยงาม หรูหรา.. แต่ ตัวธุรกิจ สินค้า บริการ พนักงาน ไม่ได้เป็นอย่างภาพที่วางไว้ ..  ถ้าเป็นแบบนั้นก็ จบ  ครับ   

2.ทำไม่ได้ตามที่สื่อสารออกไป
การสื่อสาร เป็นส่วนนึง ในการที่จะทำให้คนรับรู้ และ รู้จักใน แบรนด์ ของคุณ  ทุกๆสิ่งที่คุณสื่อออกไป คุณต้องทำให้ได้ตามนั้นนะครับ  คุณภาพ, บริการ ต้องได้ ตามที่บอก   มีโรงแรมหลายแห่ง ที่มีการทำสื่อ ในการนำเสนออย่างสวยงาม แต่พอลูกค้าไปถึง สถานที่จริงเท่านั้นแหล่ะครับ ถึงกับ เงิบ..  หรือ พวกรูปเมนูอาหาร ต่างๆ ที่ของจริง ต่างจาก รูปภาพอย่างสิ้นเชิง

3.ไม่มีส่วนสนับสนุนในการสร้างแบรนด์ที่เพียงพอ
หากคิดจะทำแบรนด์แล้ว ทุกๆคน ทุกๆฝ่าย ต้องเห็นพ้องต้องกัน และ ต้องมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งในแง่งบประมาณ หรือ พนักงานที่ให้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในองค์กร  บางแห่งได้แต่พูดว่า จะสร้างแบรนด์ จะสร้างแบรนด์ แต่ไม่สนับสนุนอะไรสักอย่าง เจอแบบนี้ ก็เจ๊ง แน่นอนครับ

4.ใจร้อน อยากสร้างแบรนด์เร็วๆ
สร้างแบรนด์ ไม่มี ทางลัด ไม่สูตรสำเร็จตายตัวครับ  ทุกอย่างต้องใช้เวลา เป็นปีๆ  แบรนด์คุณอาจจะโด่งดังได้ภายในข้ามคืนใน ยุคสมัยนี้ แต่มันก็เป็นแค่ขั้นแรกที่ทำให้คนเพิ่งได้รู้จักกับแบรนด์  แต่กว่าแบรนด์ของคุณจะมีคุณค่า และ ส่งผลประโยชน์ต่อธุรกิจของคุณนั้น  ต้องใช้เวลาครับ.. กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวนะครับ ..   แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ.. สร้างแบรนด์นั้นใช้เวลา  แต่ การทำลายแบรนด์นั้น ใช้เวลาแค่เพียงพริบตา..

5.ไม่สามารถควบคุม แบรนด์ของตนเองได้ดี
เมื่อธุรกิจเริ่มขยาย ต้องมีการควบคุมกิจกรรมต่างของแบรนด์ ควบคุมการขยายแบรนด์ การทำการสื่อสาร หลายๆคนเริ่ม คุมไม่ได้ หรือ ทำไปแบบไม่มีทิศทาง ไร้กลยุทธ์ ไม่ก็ทำๆหยุดๆ  สิ่งต่างๆที่ออกมา เริ่มไม่ตรงตามจุดยืน และ สิ่งที่แบรนด์ควรจะเป็น  สุดท้ายก็สร้างแบรนด์ออกมาได้ไม่ดี 

6.ต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน อย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ
ข้อนี้คลาสสิคสุดครับ ..  ยึดติดกับอดีต กับความสำเร็จเดิมๆ  กาลเวลาเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน  แต่ตัวเอง ไม่ยอมเปลี่ยน..

7.ไม่เข้าใจถึงการวัดคุณค่าของแบรนด์
คุณค่าของแบรนด์ไม่ใช่แค่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดี สวยงาม หรูหรา หรือ มูลค่าที่เป็นแค่ตัวเงินที่วัดกันออกมาให้เป็น สินทรัพย์  แต่ คุณค่าของแบรนด์จริงๆ มันคือ สิ่งที่อยู่ในหัวในความคิด ของผู้บริโภค ว่าเค้ามีความรู้สึก และ คิดอย่างไร ต่อแบรนด์ของเรา  แบรนด์ที่ดี  ผู้บริโภคก็จะรู้สึกไปในทางบวก  แบรนด์ที่มีคุณค่าที่แข็งแรงมากๆ ก็จะทำให้ผู้บริโภคถึงขั้นติดแบรนด์ รัก และ หลงใหลในแบรนด์นั้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไร เค้าก็พร้อมที่จะสนับสนุนคุณตลอดเวลา

ทำแบรนด์ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ ก็ไม่ใช่เรื่อง ง่ายๆ นะครับ  สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณต้องเข้าใจก่อน ว่า การสร้างแบรนด์คืออะไร และ มันจะมีประโยชน์อย่างไร  เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจตั้งแต่แรก อย่างอื่นก็ไม่มีประโยชน์แล้วล่ะครับ

ARA