สวัสดีครับ วันนี้ผมขอพูดเรื่องแนวทางการทำธุรกิจส่งออกนะครับ
จากที่เคยเห็นมามีหลายแบบมากครับ ขึ้นอยู่กับ Business Model ของท่านว่าจะถนัดแบบไหน
ชอบแบบไหน หรือมีกำลังคนกำลังเงินมากน้อยแค่ไหน ลองดูแนวทางต่างๆ กันเลยนะครับ
1.
Own Produce, Own Export
แนวทางนี้คือการที่บริษัทเราทำเองทุกอย่างตั้งแต่การผลิต
การขายรวมถึงการทำการตลาดในต่างประเทศ
ผู้ที่ทำแนวทางคือธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในตลาดไทยแล้วต้องการขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ
มีกำลังการผลิตพร้อม มีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งออกโดยเฉพาะ สำหรับ SME
บางรายอาจะเคยทำลักษณะนี้แต่สุดท้ายแล้วทำไม่ไหวก็จะลดลงมาเหลือแค่ผู้ผลิต
รับจ้างผลิตให้ผู้ส่งออกอีกที
2.
Brand Owner
การเป็นเจ้าของแบรนด์
คือหนึ่งในสินทรัพย์ที่ดีที่สุดที่เทรดเดอร์ควรมี ผู้ทำธุรกิจนี้สร้างสินค้าเอง
สร้างแบรนด์เอง หาช่องทางจัดจำหน่ายเอง ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับการตลาดและการขายเอง
เหลือแค่การผลิตที่ตัวเองไม่ชำนาญไปรับจ้างผลิตแทน
ผู้ทำแนวนี้ต้องหาโรงงานที่ดีให้เจอ และต้องลงทุนสูงกับการสร้างแบรนด์
3.
Exclusive Distributor
การเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว คือการที่ผู้ส่งออกหรือเทรดเดอร์เซ็นต์สัญญาเป็นผู้จัดจำหน่ายทุกอย่างแก่ผู้ผลิตในตลาดต่างประเทศ
โดยใช้แบรนด์ของผู้ผลิต เพียงแต่ในตลาดนั้นๆ ผู้ผลิตจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกิจกรรมใดๆ
ทั้งสิ้น การทำธุรกิจแบบนี้ผู้ผลิตชอบมากเพราะไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวเรื่องจุกจิก
จึงให้บริษัทเทรดดิ้งรายเดียวจัดการไปเลย โดยปกติจะให้ 1 ประเทศ 1 บริษัท
เพื่อป้องกันปัญหาการแข่งกันเอง
4.
General Exporter
คือการไม่ผูกมัดกับผู้ผลิตหรือลูกค้าใดๆ ทั้งสิ้น
เทรดเดอร์มีหน้าที่หาออเดอร์ เมื่อได้ออเดอร์ก็มาสั่งโรงงานผลิต แล้วก็ส่งมอบให้ลูกค้า
การทำธุรกิจแบบนี้เหมาะสำหรับนักธุรกิจส่งออกมือใหม่ ที่ยังไม่มีเครดิตมากพอ
หรือยังไม่เชี่ยวชาญในตลาดหรือสินค้ามากพอ ส่วนข้อเสียคือมีคู่แข่งเยอะ เพราะใครๆ
ก็ขายได้เหมือนกับเรา
5.
Sourcing Agent
มีบริษัทต่างประเทศหลายแห่งต้องการสินค้าจากไทยหลายชนิดรวมๆ กัน
แต่ไม่มีกำลังพอที่จะมาหาสินค้าด้วยตัวเอง
จึงแต่งตั้งผู้แทนจัดซื้อในประเทศแหล่งสินค้านั้นๆ
เพื่อจัดซิ้อสินค้าตามที่ต้องการ รวมตู้แล้วจัดส่ง ส่วนใหญ่เป็นการรวมสินค้าหลายๆ
ชนิดมากกว่าชนิดเดียว ผมเคยเจอบริษัทจากฮ่องกงแห่งหนึ่ง ต้องการให้ผมเป็น sourcing
agent ให้กับเขา โดยให้ลิสต์สินค้ามา เชื่อมั้ยครับ
เค้ารู้จักสินค้าไทยดีกว่าคนไทยรู้จักซะอีก
6.
Commission Broker
คือการเป็นตัวกลางในการหาสินค้า
งานของเราไม่มีอะไรเลยนอกจากการหาผู้ซื้อและผู้ผลิตให้มารู้จักกัน เหมือน match
maker และเราก็จะรับค่าคอมมิชชั่นจากการซื้อขายนั้นๆ ข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยง
ส่วนข้อเสียคือสมัยนี้การหาแหล่งสินค้าทำได้ง่ายขึ้น
จึงไม่ค่อยจำเป็นต้องพึ่งพาโบรกเกอร์ลักษณะนี้เท่าไหร่
แต่อาจจะมีบางแห่งที่ผู้ผลิตยังไม่ต้องการทำตลาดมากนัก
ลองดูแต่ละโมเดลนะครับว่าท่านถนัดสนใจแบบไหน เราไม่ต้องทำหมดทุกอย่างนะครับ
เพราะมันจะทำให้เราจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่มีจุดเด่นอะไรไปสู้เขาได้
#KAL #YESCLUB
#ส่งออก #เทรดดิ้ง #การค้าระหว่างประเทศ #ออนไลน์ #หอการค้า #นำเข้าส่งออก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น