วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เข้าใจภาษี ตอนที่ 2 ใครมีหน้าที่ยื่นภาษีบ้าง


ตอนที่แล้วผมเล่าถึงที่มาที่ไปของภาษี รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับภาษี หวังว่าท่านคงเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมากขึ้นนะครับ วันนี้เราจะพูดถึงการเก็บภาษีของผู้มีรายได้ ว่าใครบ้างที่มีหน้าที่เสียภาษี ผมขอแบ่งง่ายๆ เป็น 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล
บุคคลธรรมดา

คือคนที่มีตัวตน ของใครของคนนั้น ถือเป็นหน่วยย่อยที่สุดที่จะต้องเสียภาษี เพราะรายได้ที่จะใช้คำนวณภาษีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น แม้จะอยู่อาศัยด้วยกัน หรือกินข้าวหม้อเดียวกันก็ตาม ตัวอย่างเช่น พี่น้องสองคนช่วยกันรับจ้างขับรถขนส่ง คนนึงขับรถ อีกคนยกของ ถึงจะได้รับเงินค่าจ้างรวมกันก็จริง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องแยกรายได้เป็นของใครของมันอยู่ดี บุคคลธรรมดาจะรวมรายได้กันได้เฉพาะกรณีเดียวคือเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนกันถูกต้องตามกฎหมาย รายได้ของทั้งสองคนจะนำมารวมกัน เพราะในทางกฏหมาย สามีภรรยาถือว่าเป็นคนๆ เดียวกันนั่นเอง

บุคคลธรรมดาที่มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง โดยใช้แบบฟอร์ม ภงด 91 สำหรับรายได้เฉพาะเงินเดือน หรือ ภงด 90 สำหรับรายได้มากกว่าหนึ่งประเภท โดยต้องยื่นเสียภาษีภายในไม่เกินเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป (รายได้ปีนี้ทั้งปี ยื่นเสียภาษีภายในพฤษภาคมปีหน้า)

ในส่วนของบุคคลธรรมดาจะมีการลดหย่อนภาษีที่หลากหลายตามการสนับสนุนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่อปี การจ่ายเงินอุดหนุนประกันสังคม หรือการลดหย่อนสำหรับลูกกตัญญูที่เลี้ยงดูบิดามารดา นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้คนออมเงิน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) การลดหย่อนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการซื้อประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน หรือการลดหย่อนเพื่อเสถียรภาพการลงทุนในประเทศ ซึ่งก็คือ LTF หรือแม้กระทั่งการลดหย่อนเพื่อจูงใจให้คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สังคม เช่น เงินบริจาคเข้ามูลนิธิ หรือทุนการศึกษาให้มูลนิธินั่นเอง

นิติบุคคล
แปลเป็นไทยว่าบุคคลที่เกิดขึ้นตามกฏหมาย (ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ) นิติบุคคลนี้ก็คืออะไรที่เราคุ้นกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคล หรือแม้กระทั่งกองทุนรวม หรือนิติฯ ในคอนโด ที่พวกเราคุ้นเคยกัน วัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งนิติบุคคลขึ้นมาก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจการค้า หรือบริหารงาน การลดความเสี่ยง บริหารจัดการรายได้ หรือแม้กระทั่งเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี

นิติบุคคลนี้ก็มีหน้าทื่ยื่นภาษีเงินได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยต้องรวมรายได้ทั้งปีในปีนี้ เพื่อยื่นภาษีภายในเดือนเมษายนปีหน้า แต่ในส่วนนิติบุคคลจะมีรายละเอียดยิบย่อยกว่า เช่น ต้องส่งเอกสารระหว่างปีเพื่อเป็นข้อมูลว่าทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้เท่าไหร่ เป็นต้น แบบฟอร์มในการยื่นรายได้ของนิติบุคคลจะเรียกว่าแบบภงด 50 และภงด 51

ในตอนหน้าผมจะเล่าถึงรายได้ของแต่ละประเภทของบุคคลธรรมดาว่ามีอะไรบ้างนะครับ

#KAL #YESCLUB #TAX #VAT #ภาษี #ลดหย่อนภาษี #LTF #RMF

เข้าใจภาษี ตอนที่ 1
http://www.yesclubbusiness.com/2014/11/1.html

เปิดบริษัทต้องทำยังไง ตอนที่ 1 ทำไมเราต้องเปิดบริษัท

http://www.yesclubbusiness.com/2014/11/1_18.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น