เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับใครหลายคนที่คิดจะทำธุรกิจขนาดกลางหรือใหญ่
เพราะท่านคงหนีไม่พ้นการเปิดบริษัท หรือท่านที่ตั้งใจจะทำธุรกิจให้ใหญ่โต
ก็คงตัดสินใจไม่ยาก แต่สำหรับ SME หรือพ่อค้าแม่ขายควรจะเปิดบริษัทดีมั้ย
ยังเป็นคำถามที่ค้างคาใจที่ต้องคิดกันต่อไป
ผมจึงเขียนเหตุผลสำหรับการเปิดบริษัทให้ท่านพิจารณาในตัวธุรกิจของท่านเองว่าควรเปิดบริษัทหรือไม่นะครับ
ซึ่งคำว่าบริษัทนี้ผมหมายถึงบริษัทเท่านั้น ไม่นับห้างหุ้นส่วนสามัญ จำกัด
หรือคณะบุคคล ลองดูแต่ละเหตุผลในการเปิดบริษัทและสถานการณ์ที่น่าจะเข้ากับท่านกันนะครับ
1.
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
ในบางธุรกิจลูกค้า คู่ค้าก็ต้องการความน่าเชื่อถือของเราก่อนจะติดต่อด้วย
รวมถึงการติดต่อขอเงินกู้จากธนาคารก็จะมีเครดิตดีกว่าการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา
การมีบริษัทเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการแสดงความน่าเขื่อถือ เพราะว่าอย่างน้อยคู่ค้าเราก็คิดว่าเราคงจริงจังในการทำธุรกิจมาระดับนึงแล้ว
ตอนที่ผมตั้งใจจะทำส่งออก สิ่งแรกที่ผมทำคือเปิดบริษัท
เนื่องจากการทำการค้าระหว่างประเทศลูกค้าหรือคู่ค้าคงไม่อยากทำธุรกิจด้วย
และในเมื่อผมตั้งใจจะทำมันจริงๆ ผมคงไม่อยากเจอเหตุการณ์ที่ว่าลูกค้ากำลังจะสั่งซื้อ
ผมตอบกลับไปว่าพร้อมทุกอย่าง แต่ขอเวลาไปเปิดบริษัทแป๊บนึง รู้สึกอย่างนี้มั้ยครับ
2.
เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน
หากบริษัทหนึ่งมีลงทุนหนึ่งล้านบาท
และกำลังจะปิดกิจการโดยมีหนี้สินอยู่สองล้านบาท เจ้าหนี้จะสามารถฟ้องเพื่อรับเงินกู้คืนเป็นจำนวนเท่าไหร่
ในตามกฏหมายบริษัทมีหน้าที่ชำระเงินได้ตามจำนวนทุนที่มีอยู่เท่านั้น
นั่นหมายความว่าหากเจ้าของลงทุนแค่ล้านเดียว เจ้าหนี้สามารถทวงเงินได้เท่านั้น บริษัทคือผู้ล้มละลาย
ไม่เกี่ยวกับเจ้าของ แสดงว่าการเปิดบริษัทถือว่าเป็นการจำกัดความเสี่ยงของผู้ถือหุ้นนั่นเอง
เราถึงเรียกว่าบริษัทจำกัดไงครับ (แต่บางกรณีเจ้าหนี้เราอาจจะให้ผู้ถือหุ้นหรือกรรมการเซ็นต์เอกสารอีกตัวเพื่อรับผิดเกินขอบเขตของบริษัทก็มี)
3.
เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ผมคิดว่าข้อนี้เป็นปัจจัยหลักที่ SME มองถึง การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในที่นี้หมายถึง
การที่เราเสียภาษีโดยปกติ ไม่ใช่การเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด
แนวคิดคือหากท่านทำธุรกิจในนามบุคลลธรรมดา ภาษีจะคิดจากรายได้ของท่าน
แล้วค่อยหักค่าใช้จ่ายหรือต้นทุน แต่หากท่านเปิดบริษัท ภาษีจะคิดจากกำไรคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายของท่านแทน
(สามารถอ่านรายละเอียดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในบทความอื่นๆ ของเรา)
4.
เพื่อความโปร่งใสทางการเงิน
เหตุผลนี้สืบเนื่องจากเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีเนื่องจากรัฐ
ต้องการให้ประชาชนทำธุรกิจแบบโปร่งใส การทำธุรกรรมซื้อขายทุกครั้งจะต้องมีเอกสารประกอบ
เพื่อให้บัญชีเป็นผู้บันทึกและจัดทำงบรวมถืงยื่นภาษีแก่สรรพากรด้วย การทำเช่นนี้นอกจากจะเกิดความโปร่งใสต่อรัฐในการยื่นภาษีแล้ว
ยังโปร่งใสต่อภายในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ การขาย หรือการบริหารสินค้าคงคลังอีกด้วย
เรื่องเหล่านี้จำเป็นมากสำหรับบริษัทที่มีธุรกรรมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
5.
เปิดบริษัทเพื่อความโปร่งใสระหว่างผู้ถือหุ้น
หลายท่านอาจจะไม่ได้เปิดบริษัทเพียงคนเดียว คืออาจจะมีหุ้นส่วนที่นำเงินมาลงทุนด้วย
สมมติว่าท่านกับเพื่อนอีกสองคนรวมเงินกันทำธุรกิจ ท่านจะต้องมีเอกสารหลักฐานในการยืนยันชำระเงินเพื่อลงทุน
เงินก้อนนั้นอาจจะเก็บไว้ที่บัญชีของใครคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสามคน
หากเชื่อใจกันก็ดีไป แต่หากไม่เชื่อใจกัน
ท่านจะพบกับความยากลำบากในการขอดูเงินในบัญชีที่ใช้ไป การเปิดบริษัทเป็นการทำเอกสารโดยปริยายที่จะทำให้ท่านและหุ้นส่วนต่างวางใจว่าจะไม่มีการเข้าใจผิดในเรื่องเงินลงทุน
6.
เปิดบริษัทเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับเป็นพิเศษ
ในส่วนของราชการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม
หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน หอการค้า หรือหน่วยงานอื่นๆ
มักจะให้ความสำคัญกับบริษัทมากกว่าบุคคลธรรมดา
การที่ท่านไปเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานเหล่านี้ ต้องมีบริษัทเป็นตัวยืนยัน
เพื่อท่านจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย
ผมเคยเจอเพื่อนท่านหนึ่งมีสินค้าที่ดีมากอยู่ในมือ เข้าร่วมกิจกรรมกับกรมฯ ทีไร
ไม่เคยได้ไปประกวดกับเขาในฐานะผู้เข้ารอบสุดท้าย
เนื่องจากตัวเขาเองไม่ได้จดทะเบียนเปิดบริษัทหรือนิติบุคคลใดๆ เลย
ที่เล่ามาทั้งหมดคือเหตุผลในการเปิดบริษัท คราวหน้าผมจะมาเล่าต่อถึงเหตุผลที่ไม่ควรเปิดบริษัทนะครับ
เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
#KAL #YESCLUB #TAX #COMPANY #SETUP #STARTUP
เข้าใจภาษี ตอนที่ 1
วิเคราะห์ธุรกิจด้วยสามเหลี่ยมมหัศจรรย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น