วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เราจะเอาอะไรไปสู้จีน


สิ้นปีนี้ หรืออีกนัยคือต้นปีหน้า AEC กำลังจะเข้ามาแล้ว การผ่านแดนของสินค้าจะเป็นอัตราภาษีศูนย์ แรงงานจะไหลเวียน เงินทุนจะคล่องตัว หวังว่าทุกท่านคงเตรียมตัวกันแล้วนะครับ  

โดยความเห็นส่วนตัว AEC กันเองระหว่างเราก็ถือว่าเป็นข้อดีของไทย เพราะการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียตนาม) นั้น ไทยได้ประโยชน์เต็มๆ เนื่องจากยุทธศาสตร์เราได้ แต่ที่น่ากลัวและต้องตื่นตัวจริงๆ คือการค้าระหว่าง AEC กับ จีนมากกว่า

ด้วยเหตุผลทั้งทางภูมิประเทศและความสัมพันธ์ จีนต้องการให้ไทยเป็นเหมือนเมืองท่าอีกเมืองของจีน ที่รับสินค้าจากจีนมากระจายต่อไปยังอาเซียน ไม่ใช่แค่จีนที่เห็น สหรัฐอเมริกาก็เห็น (ถึงได้มีการงัดข้อกันระหว่างสองประเทศนี้บ่อยครั้งในประเทศแถบนี้) สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่า แม้คุณภาพบางตัวจะด้อยกว่า เข้ามาตีตลาดในไทย และแน่นอนก็มีธุรกิจหลายประเภทล้มหายตายจากกันไป จึงมีคำถามให้หลายคนสงสัยว่าเราจะถูกจีนกลืนมั้ย ในอนาคตเราจะเป็นได้แค่ลูกไล่ของจีนรึเปล่า ผมคงตอบแบบฟันธงไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายประเทศเราและการปรับตัวของ SMEs แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นักธุรกิจไทย ก็เก่งพอที่จะปรับตัวยืนบนตลาดโลกได้ แม้การสนับสนุนของราชการไม่ได้เพียงพอและทันสถานการณ์เท่าที่ควร (ถ้าสนับสนุนดีๆ จะดีขนาดไหน)

มองดูผิวเผินเหมือนว่าเราจะอยู่ในลีกเดียวกับพี่จีน ซึ่งผลิตสินค้าแทบจะคล้ายกันสามารถผลิตได้ทุกอย่างในโลกใบนี้ แต่เดี๋ยวก่อนนะครับ มันยังมีช่องทางเหลืออยู่อีกเสมอสำหรับสินค้าไทย ถ้ามองในแบบธุรกิจ จีนเหมือนธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนไทยเราเหมือนขนาดเล็ก หรือ SMEs ถ้าเราจะสู้กับจีน เราต้องสู้แบบ SMEs เท่านั้น กลยุทธ์ SMEs ก็มีไม่กี่อย่างครับ 1. เร็ว 2.ยืดหยุ่น 3.ตลาดเฉพาะ เหมือนนักเตะทีมชาติไทย ตัวเล็ก เน้นเร็ว คล่องแคล่ว และมีแต่อาวุธหนักๆ เท่านั้น

หลายๆ ประเทศเจอผลกระทบจากจีน ก็ต้องปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์ธุรกิจเล็กแทบทั้งสิ้น เช่น ไต้หวัน จากที่เคยผลิตสินค้าได้หลากหลายแบบไทย เช่น พวกการ์เม้น หลายสิบปีก่อนก็ยกเครื่องทั้งประเทศ โดยการโฟกัสขอเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งเกาะทำเหมือนกัน แต่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ เห็นว่าล่าสุดก็กำลังยกเครื่องใหม่เป็นเมือง carbon-free สามารถปั่นจักรยานได้ทั่วเกาะด้วยอีก

มาเลเซีย จากที่เมื่อก่อนเคยปลูกยางพาราขายแข่งกับไทย ตัดราคากันอย่างเมามัน วันนึงก็บอกว่าเลิกทำละยางพารา ทำไปก็เจ็บตัวเปล่าๆ เปลี่ยนไปปลูกปาล์มอย่างเดียวพอ จนทุกวันนี้เป็นเบอร์หนึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันไปแล้ว

ฟิลิปปินส์ จากที่เคยเป็นคู่แข่งกับไทย ทุกวันนี้เปลี่ยนใหม่ ด้วยพื้นฐานภาษาอังกฤษดี ค่าแรงถูก ประชาชนชอบการบริการ จึงเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Processing Outsource คือบริการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการดำเนินงานให้ธุรกิจชั้นนำข้ามชาติ เช่น คนในอเมริกาจะโทรหา Call Center ในอเมริกาด้วยกัน ระบบจะโอนสายอัตโนมัติไปหา Call Center ที่ฟิลิปปินส์เลย อาจจะงงว่าคุ้มกันมั้ย แต่คิดค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จแล้ว ถูกกว่าจ้างคนอเมริกันรับสาย (เดิมอินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญ แต่ตอนนี้ฟิลิปปินส์ตีตลาดกระจุย)

กลับมามองที่ไทยเรา ด้วยความเป็นประเทศที่ประชาชนเป็นมิตรต่อคนต่างชาติ รักการบริการ อุดมสมบูรณ์ และชื่นชอบการพักผ่อนมากกว่าทำงาน ธุรกิจที่ดีและมีศักยภาพสำหรับประเทศเราคงหนีไม่พ้น การท่องเที่ยว บริการด้านโรงพยาบาล การเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมความงาม บันเทิง หัตถกรรม และการบริการทุกประเภท เป็นงานที่เราทำได้ดีกว่าจีนและแทบทุกชาติในโลกนี้ ธุรกิจที่ท่านดำเนินการอยู่หากดีอยู่แล้วก็ขอให้พัฒนาต่อไป แต่อย่ามองข้ามธุรกิจศักยภาพเหล่านี้ด้วยนะครับ ขอให้ทุกท่านโชคดี

#YESCLUB #KAL #EXPORT #IMPORT #AEC #CHINA #EXIM            
AEC กับ SME ไทย

ใครเป็นใครในตลาดส่งออก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น