วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เทรนด์ของการส่งออกระดับโลก (ตอน 1)



สวัสดีครับแฟนเพจ Yes Club วันนี้ขอพูดเรื่องเทรนด์การส่งออกสินค้าระดับโลกที่จะกำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศนะครับ

เดิมนั้นการส่งออกคือการที่ผู้นำเข้าไปเสาะแสวงหาสินค้าจากผู้ส่งออกของประเทศผู้ผลิต หรือบางรายก็ไปหาผู้ผลิตโดยตรงเลยก็มี โดยผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็คือผู้ผลิตรายใหญ่ หรือไม่ก็เป็นเทรดเดอร์ (ซื้อมาขายไป) รายใหญ่เท่านั้น ส่วนลูกค้าก็เป็นลูกค้ารายใหญ่เช่นกัน ผู้ส่งออก (รวมทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย) จะนิยมหาลูกค้าจากงานแฟร์ การไปจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) หรือแม้กระทั่งการขอข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออก (ชื่อสมัยนั้น) บางรายกล้าหาญและทุนเยอะ ก็ลงทุนบินไปหา ไปขายของโดยตรงก็มี
แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปครับ ผมรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เพราะผมเคยไปเรียนและฝึกงานด้านการออกบูธส่งออกเมื่อสิบกว่าปีก่อน และปัจจุบันก็ทำส่งออก นอกจากนี้ยังมีการวิจัยจากต่างประเทศสรุปเป็นเทรนด์การส่งออกอีก ผมจึงขอโอกาสนำเทรนด์นั้นมาเล่าผ่านประสบการณ์ของผมเองนะครับ

1.       ตลาดซื้อของออนไลน์แบบขายปลีกโตขึ้นมาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหม่กว่าใครในเรื่องนี้ เพราะเรายังได้ยินกันอยู่เลยว่าการส่งออก สามารถหาลูกค้าจากออนไลน์หรือเว็บไซต์ได้ เช่น เว็บ alibaba.com แต่นั่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปอีกแล้ว เนื่องจากลูกค้าที่ต้องการสินค้าจากเรา ไม่ได้ต้องการแค่ซื้อมาขายต่อ หรือลูกค้าส่ง (Wholesale) เรายังมีตลาดลูกค้าปลีก ที่ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกโดยตรงอีกด้วย (Retail)

แรกๆ ผมไม่ได้ใส่ใจกับเทรนด์นี้มากนัก แต่พอได้ฟังข้อมูบการนำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและจีน พบว่าเทรนด์นี้กำลังมาก็ต้องสะกิดใจเลยทีเดียว มานั่งสังเกตจากเว็บไซต์ที่มีการเติบโตชื่อดังอย่าง amazon.com, taobao.com พวกนี้เน้นขายสินค้าปลีกเท่านั้น และยังอนุญาตให้ผู้ขายจากต่างประเทศ ลงทะเบียนขายของให้ลูกค้าได้เลย ก็เชื่อเลยว่าเป็นอีกช่องทางที่ทำเงินได้ดีครับ ในไทยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อมีเว็บต่างประเทศเปิดบริการให้ลูกค้าไทย และอีกหลายๆ ประเทศ ซื้อของทีละชิ้น และรับของทางไปรษณีย์จากผู้ขายได้เลยเช่นกัน แถมยังมีเมนูภาษาไทยอีกด้วย เทรนด์นี้ก็ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งครับ

2.       ลูกค้าต้องการคุณภาพมากกว่าราคาถูก

ประเทศจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานของโลก หลักจากที่จีนเปิดประเทศไปแล้วนั้น บรรดาสินค้าราคาถูกได้ถูกกระจัดกระจายไปทั่วโลก ผู้นำเข้ากระหยิ่มยิ้มย่องเพราะมีแหล่งสินค้าถูกที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างงาม แต่อย่างที่เราทราบกันว่าข้อเสียของสินค้าจีน นอกจากต้องการจำนวนการสั่งที่มากแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องคุณภาพอีกด้วย ซื้อมา 1,000 ชิ้น เสียซะ 20% เท่ากับต้นทุนเพิ่มขึ้น 25% ทำให้ลูกค้าหลายรายค่อนข้างเข็ด บางประเทศยี้สินค้าจีน และพยายามหาผู้ผลิตจากประเทศอื่น เช่น เวียตนาม ที่ราคาใกล้เคียงกันแต่คุณภาพรับได้มากกว่าอีกด้วย

ด้วยเหตุผลนี้ลูกค้าจึงคำนึงถึงคุณภาพสินค้าเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยหาวิธีลดต้นทุน ต่อราคา เพื่อให้แข่งขันได้แทน จีนเองก็รู้ตัวและปรับปรุงคุณภาพสินค้าตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งในตอนนี้แม้คุณภาพของสินค้าจีนจะพัฒนาขึ้นมามากกว่าเดิมแล้ว แต่เนื่องจากมีผู้ผลิตจำนวนมากที่ยังไม่อัพเกรดคุณภาพสินค้าตัวเอง จึงทำให้ภาพลักษณ์และประสบการณ์จริงจากลูกค้ายังแก้ไขไม่ได้มากนัก และนี่เป็นโอกาสของสินค้าไทยที่มีคุณภาพในสายตาชาวต่างชาติ และรับจำนวนการสั่งซื้อครั้งละไม่มากได้ รวมถึงความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ ก็เป็นจุดแข็งสำหรับเราได้เช่นกัน

พรุ่งนี้มาต่ออีก 3 เทรนด์นะครับ
#KAL #EXPORT #YESCLUB #TREND #ECOMMERCE
การตลาด online vs การตลาด offline

แนวทางในการทำธุรกิจส่งออกสำหรับมือใหม่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น