วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

“Workshop: Business Model Canvas Upgraded” by YES CLUB

งานสัมมนา สำหรับ ผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้ และ นำ Business Model Canvas และ Value Proposition Canvas ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจปัจจุบัน หรือ ธุรกิจที่สนใจจะทำในอนาคต
เหมาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการที่จะ เริ่มทำธุรกิจ, ต่อยอดธุรกิจเดิม หรือ ศึกษาความเป็นไปได้ของภาพรวมของธุรกิจที่สนใจก่อนที่จะทำการลงทุน

Business Model Canvas (BMC) และ Value Proposition Canvas (VPC) คืออะไร
BMC และ VPC เป็นเครื่องมื่อที่ใช้เพื่อทำความเข้าใจลูกค้า, สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่าเดิม และ ต่อยอดสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ. BMC และ VPC มีความแตกต่างจาก เครื่องมือธุรกิจอื่นๆ ด้วยจุดเด่นในเรื่องของ รูปแบบโมเดลที่เป็นลัษณะภาพ ที่จดจำและเข้าใจได้ง่าย (Visual Tool) ซึ่งทำให้ทุกคนเข้าใจภาพรวมธุรกิจ และ สื่อสารกันได้ง่ายและชัดเจน

Business Model Canvas (BMC)
เครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบ โมเดลธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมในทุกเรื่องที่ควรจะต้องรู้, พิจารณา และ เตรียมให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มลงมือทำธุรกิจ เปรียบเสมือนกับเป็น Blueprint ของการทำธุรกิจ (แผนธุรกิจแบบย่อ)  

Value Proposition Canvas (VPC)
เครื่องมือที่ใช้ในการหาคุณค่า และ ความแตกต่างที่ธุรกิจควรจะมี โดยอิงจาก ความเข้าใจในฝั่งของผู้บริโภคให้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ได้จะเครื่องมือนี้ จะนำไปใช้ต่อยอดในการทำโมเดลธุรกิจ

BMC และ VPC เป็นทฤษฎี ที่เขียนขึ้นโดย Alexander Osterwalder ร่วมกับ  Yves Pigneur ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กร “STRATEGYZER” ที่ดูแลในเรื่องการทำหนังสือ จัดฝึกอบรม และ workshop ที่เดินทางไปจัดในที่ต่างๆ ทั่วโลก
ปัจจุบัน มีธุรกิจมากกว่า 5 ล้านรายทั่วโลก ที่ใช้ Business Model Canvas / หนังสือขายทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านเล่ม แปลไปแล้วกว่า 30 ภาษา / มีผู้เข้าฝึกอบรมกับทาง Strategyzer ไปแล้วกว่า 4 พันคน / มีการนำทฤษฎีนี้ไปสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มากกว่า 250 แห่ง
บริษัทระดับโลกที่ใช้ Business Model Canvas เช่น Microsoft, 3M, GE, Fujitsu, Master Card, CocaCola, HP, Colgate-Palmolive, Lego, Lufthansa, Michelin, Nestle, Unilever, P&G, SAP, Intel, Toyota.

BMC กับ VPC มีประโยชน์อย่างไร:
·         BMC ทำให้เข้าใจ และ จดจำภาพรวมของธุรกิจได้อย่างง่าย ชัดเจน และใช้เวลาไม่นานในการทำ (จบในแผ่นเดียว และ สามารถจดจำเป็นภาพได้ – Visual memorization.) ซึ่งแตกต่างจากการทำแผนธุรกิจแบบดั้งเดิมในสมัยก่อน
·         BMC ช่วยให้เข้าใจถึงโครงสร้างธุรกิจ และ การออกแบบโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและสร้างสรรค์
·         BMC เป็น แม่แบบ (Blueprint) สำหรับ การเริ่มทดลอง ลงมือทำ ตามหลักการทำงาน แบบ Lean Start Up (สร้าง-เรียนรู้-วัดผล)

·         VPC ช่วยให้คิดสร้างสรรค์ สินค้า นวัตกรรม และบริการใหม่ๆ ได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น
·         VPC ช่วยให้เข้าใจลูกค้าในมุมมองต่างๆ ได้ชัดเจน ลึกซึ้งและละเอียดมากขึ้น และ สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาเชื่อมต่อ กับ คุณค่าที่ธุรกิจเราจะส่งมอบให้กับลูกค้า
·         VPC นำไปต่อยอดกับการสร้าง โมเดลธุรกิจให้สมบูรณ์แบบได้มากขึ้น

สิ่งที่คุณจะได้รับจากการเข้าร่วมงานสัมมนา:
1.     เข้าใจหลักการ ความหมาย และ ความสำคัญ ของ Business Model Canvas และ Value Proposition Canvas
2.     ได้รู้ถึงเทคนิคต่างๆในการคิด โมเดลธุรกิจ และ การสร้างคุณค่า สำหรับธุรกิจของคุณ
3.     ได้ทดลองทำ Workshop เพื่อเข้าใจถึงการออกแบบ โมเดลธุรกิจและการสร้างคุณค่ามากขึ้นสามารถนำ BMC ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจตัวเอง
4.     ตัวอย่าง กรณีศึกษาต่างๆ จากบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ได้มีการใช้ BMC & VPC
5.     สามารถร่วมปรึกษา และ ขอความเห็น ไอเดียต่างๆ จากทางวิทยากร และ เพื่อนร่วมธุรกิจ

เนื้อหาการอบรม :
1.     ความสำคัญของ BMC และ VPC ต่อการทำธุรกิจ
2.     อธิบายถึงความหมายของ BMC, VPC และ กรณีศึกษาต่างๆ
3.     เทคนิควิธีการออกแบบ ขั้นตอนการออกแบบ และ การนำไปใช้งาน
4.     วิธีการตรวจสอบและเช็คความเป็นไปได้ของโมเดล
5.     เทคนิคการปรับปรุงโมเดลให้ดีขึ้น 

อ่านรายละเอียดการสัมมนาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/yesclubbusiness/posts/1098829376892949:0

สนใจเข้าร่วมสัมมนา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
Line: https://line.me/R/ti/p/%40yesclub
 หรือโทร 093-2364951

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำแต่ที่ถนัด


ทำแต่ที่ถนัด


ในการทำงานนั้นไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจส่วนตัวหรือว่าทำงานประจำ สิ่งที่เจอก็คือว่า มีงานมากมายที่จำเป็นต้องทำ บ้างก็เลือกได้ว่าจะให้ใครทำ บ้างก็เลือกไม่ได้ แต่หากเราเลือกได้โดยเฉพาะกับเจ้าของธุรกิจที่ทำเอง หรือพึ่งเริ่มเช่น SME ต่างๆนั้นต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่จากประสบการณ์ที่ได้เห็นมานั้นคือ จะทำเองทุกอย่างหมดเป็นทั้ง Call center, เป็นทั้งฝ่ายผลิต, เป็นทั้งฝ่ายการตลาด, เป็นทั้ง Sales, เป็นทั้ง IT, หรือพูดง่ายๆ ว่า all in one นั่นเอง แต่การทำแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เรามาดูกันว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร



ข้อดี

· สามารถมุ่งไปยังสิ่งที่ถนัดและทำให้ได้ดีได้

· เก่งเฉพาะทาง

· สามารถพัฒนาศักยภาพในด้านนั้นได้ดีและสามารถทำให้เป็นผู้ชำนาญได้

· สามารถหาผู้ชำนาญทางด้านอื่นมาช่วยในด้านที่เราไม่ถนัดได้

· ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

· ไม่มี fix cost เนื่องจากงานที่ไม่ถนัดสามารถ outsource ได้


ข้อเสีย

· จำเป็นต้องใช้คนเยอะขึ้นและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

· รู้และชำนาญงานในวงแคบ


นอกจากนี้แล้ว การโฟกัสในสิ่งที่เราไม่ถนัดเราจะสามารถหาผู้ช่วยและผู้ที่ชำนาญมาช่วยอุดรูรั่วในส่วนที่เราไม่ชำนาญได้เช่นว่า เราชำนาญทำตลาด ขายเก่ง วางแผนเก่งแต่ก็อาจจะผลิตไม่เก่ง หรือว่าทำ IT ทำคอมไม่เก่ง เราก็เอาเวลาที่มีของเรานั้นไปทำตลาดไปขายของดีกว่า แล้วส่วนอื่นๆเราก็ outsource ออกไปได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้นั้นหาคนที่จะ outsource ได้เยอะมาก สิ่งที่เราทำได้ก็คือการสกรีนหาคนมาช่วยเราที่มีคุณภาพ และเข้าใจในงานที่ต้องการจะทำ


ในปัจจุบันนี้ทาง SME หรือบริษัททั้งหลายสามารถหา outsource ได้ในทุกส่วนและเหลือให้ธุรกิจของคุณเล็กและคล่องขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ว่าหากคุณต้องการขายสินค้าอย่างนึง คุณอาจจะต้องเปิดโรงงานและก็วุ่นอยู่กับโรงงานทั้งที่คุณไม่ถนัด แต่เดี๋ยวนี้การรับจ้างผลิตนั้นช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการอย่างเยอะมาก หรือนอกจากการผลิต การขนส่งต่างๆ messenger ก็สามารถ outsource ได้ โดยบริษัทขนส่งต่างๆหรือเอาง่ายๆก็มอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าปากซอยที่เห็นหน้ากันทุกวัน เผลอๆลองไปสอบถามราคาคุณอาจจะเจอว่าราคาอาจไม่แพงอย่างที่คิด ดังนั้นคุณก็ไม่ต้องไปจ้าง messenger มาประจำที่ออฟฟิตคุณและต้องเสียเงินเดือนในแต่ละเดือนให้กับพนักงานประจำต่างๆ


ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ การใช้ทุนให้น้อยสุดนั้นเป็นเรื่องดี จนกว่าธุรกิจจะหาโมเดลที่ลงตัวได้พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายและรายรับเลยนิ่ง ค่อยขยับหาทางขยายในเฟสต่อๆไปครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)


วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

โลกสีดำกับคนทำธุรกิจ



โลกสีดำกับคนทำธุรกิจ


ในโลกแห่งความฝัน คนที่มีฝันเริ่มธุรกิจทุกคนนั้นมองโลกที่เต็มไปด้วยสีชมพู และกลีบกุหลาบ ทุกอย่างดูดีเป็นภาพที่สวยงาม ทุกอย่างดูโอเค พระอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออกและตกในทิศตะวันตก แดดอ่อนๆยามเย็นที่ส่องทะเลสีทองอำไพสวยเหลือเกิน แต่พระอาทิตย์ดวงเดิมๆช่วงพระอาทิตย์ตกดินสำหรับบางคนที่กำลังจะเริ่มทำหรือทำธุรกิจไปแล้วอาจไม่ได้สวยแบบนั้นเสมอไป


สำหรับความเป็นจริงบางอย่างแล้ว ในการทำธุรกิจมันอาจไม่ได้สวยหรูแบบนั้น ระหว่างทางมันมีทางคดเคี้ยว ขรุขระ อุปสรรคต่างๆเต็มไปหมด หรือบางทีก็ไม่มีแม้แต่เส้นทางให้ด้วย มันเป็นโลกสีดำ มันเป็นเหมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้มหาสมุทรที่คนส่วนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญแต่มันมีอยู่จริง และที่แย่กว่านั้นคือมันทำให้เรือที่ไม่มีวันล่มอัปปางลงสู่ก้นทะเลได้ อย่างเรือไททานิค


หากไม่ดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างมาก แม้แต่เราตั้งสมมติเหตุการณ์ต่างๆไว้หลายเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ดีที่สุด เหตุการณ์ปกติ และเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เชื่อมั้ยครับว่าหลายๆครั้ง เหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการใหม่ทั้งหลายเจอ จะแย่กว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและเป็นเหตุทำให้ต้องเลิกลาไปเพราะว่าแต่ละเหตุการณ์นั้นไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ไม่ว่าจะเป็น การไม่เข้าใจผู้บริโภคที่ดี การคิดว่าสินค้าดีๆอย่างเดียวก็สามารถขายได้ง่ายๆ หรือว่าเงินสดในมือที่ไม่ได้เตรียมไว้พอพอเจอกับเครดิตเทอมที่ยาวๆก็ทำให้สายป่านยาวไม่พอ หรือว่าทำเลที่ดูเหมือนดีแต่อาจไม่ดีจริง หรือว่าการเปิดร้านในห้างที่พึ่งเปิดที่เราไม่เคยเห็นภาพมาก่อนรวมถึงการขายฝันจากเจ้าหน้าที่ของห้างนั้นว่าจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งอาจไม่ได้ดีแบบนั้น หรือแม้แต่แผนดำเนินงานที่มีด้านเดียวแผนเดียวพอทุกอย่างผิดแผนก็อาจทำให้ไม่มีแผนสำรองและเจ๊งได้ หรือการหวังพึ่งพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าใดรายนึงมากเกินไปเมื่อเวลาที่ไม่เป็นอย่างที่คิดก็อาจส่งผลเสียที่แย่มากให้กับธุรกิจได้ และยังมีอีก 108 เหตุการณ์ที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะเจอก็จะได้เจอครบ คิดไว้แย่เท่าไร เจอแย่กว่าเดิมหลายเท่า 10 เท่า 100 เท่า ดังนั้นการเริ่มธุรกิจ หากเราคิดถึงปัญหาต่างๆที่อาจจะเจอ คิดเอาไว้ให้ได้มากที่สุดและหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นล่วงหน้าไว้ก่อนแม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้เรามีภูมิต้านทานในการทำธุรกิจ เพราะหากคุณเองยังไม่เคยระวังปัญหาเหล่านี้เอาไว้ ซักวันคุณก็ต้องเจอและเมื่อคุณเจอตอนที่คุณไม่พร้อมนั้น มันจะยิ่งแย่เป็นหลายๆเท่า แต่หากว่าการที่คุณพยายามนึกถึงปัญหาต่างๆแล้วยังพอหาทางแก้ไขได้ มันยิ่งทำให้คุณคิดต่อได้อีกว่า หากแก้ได้ ธุรกิจของคุณจะวิ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ และมีโอกาสจะอยู่รอดในธุรกิจนั้นๆได้


สุดท้ายฝากเอาไว้สีดำถึงจะไม่สวย แต่ก็เป็นสีที่มีอยู่จริง การคิดและเตรียมตัวล่วงหน้าเอาไว้เยอะ ย่อมทำให้เราสามารถวางแผนงานล่วงหน้าแลหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆได้ดีกว่า และอย่าลืมว่าต่อให้ธุรกิจนั้นมีโอกาสมากมายแค่ไหนมันอาจไม่มีประโยชน์เลยหากคุณผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไม่ได้ครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)

เราต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด (ตอนที่ 1)


เราต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด (ตอนที่ 1)


สวัสดีครับ คราวที่แล้วพูดถึงข้อดีของการขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด วันนี้จะตอบคำถามที่คิดว่าท่านคงสงสัยเลยว่า หลังจากรู้ตัวแล้วว่าต้องขายเข้าโมเดิร์นเทรด จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ลองดูลิสต์ตามนี้เลยนะครับ


1. เตรียมตัวเรื่องคุณภาพสินค้า

การขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดนั้นต้องพบกับความคาดหวังของลูกค้าสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพสินค้า แทบทุกที่จะเน้นมากโดยเฉพาะอายุสินค้า (Shelf life) เพื่อเป็นการรับประกันว่าสินค้าที่ห้างเหล่านั้นขาย จะมีคุณภาพที่ดี ไม่ให้เกิดการคืนสินค้า หรือเกิดการเสียหายให้น้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งข้อตกลงในกรณีสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่ง (โดยไม่ใช่ความผิดของทางห้าง) ดังนั้นเรื่องคุณภาพสินค้าจึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงนะครับ


2. เตรียมกำลังการผลิต

เรื่องต่อมาคือการสำรวจกำลังการผลิตของสินค้าเรานะครับ ในกรณีที่ไม่ได้ผลิตเองก็สำรวจกำลังการผลิตของซัพพลายเออร์เรา หรือจำนวนสินค้าคงคลังที่เราต้องแบกสต็อกไว้ว่าสามารถรองรับออเดอร์จำนวนมหาศาลได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องปรับปรุงกำลังการผลิตโดยด่วน แต่การปรับปรุงนี้อาจนำมาซึ่งการซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งต้องดูว่าเราจะค้าขายกับโมเดิร์นเทรดในระยะยาวหรือไม่ หรือเป็นเพียงชั่วคราว


3. เตรียมการจัดส่งสินค้า

นอกจากเรื่องการผลิตที่ต้องรับให้ไหวแล้ว การส่งสินค้าให้ตรงเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน โมเดิร์นเทรดนั้นพยายามบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้ตัวเองแบกรับภาระให้น้อยที่สุด จึงพยายามแบ่งภาระนี้ให้ซัพพลายเออร์ส่งของให้ถี่ขึ้นและทันเวลาทุกครั้งที่สั่งของ โดยมีตัววัดที่เรียกว่า Service Level อาจจะมีหลายๆ ครั้งที่ไม่สามารถส่งได้ตามกำหนด ซัพพลายเออร์ก็จะถูกวัดผลงานนี้ด้วยเช่นกัน


4. เตรียมเงินหมุนสำหรับธุรกิจ

การขายสินค้าที่ดีขึ้น การผลิตให้มากขึ้น รวมถึงแบกสต็อกเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมเงินหมุนให้มากขึ้นด้วย หากท่านยังมีเงินไม่พอ หรือหาแหล่งเงินเพิ่มไม่ได้ จะเกิดอาการขายดีแต่ไม่มีเงินใช้ กำไรตัวเลขแต่ในมือไม่มีเงิน ต้องวางแผนให้รัดกุมนะครับ เพราะกว่าเงินที่จะได้มาจากการขายก็ต้องรออีก 60-90 วัน จากเครดิตเทอมอีกทอดนึงด้วย


5. เตรียมกำลังคนฝ่ายขายและหน้าร้าน

เมื่อเราส่งสินค้าไปยังห้างแล้วไม่ได้แปลว่างานของเราเสร็จแล้วนะครับ มันไม่มีอะไรรับประกันว่าสินค้าจะถูกกระจายไปยังสาขาและถูกวางบน shelf เรียบร้อยตามที่คุยกับจัดซื้อไว้ เพราะการวางสินค้าหลายๆ ขั้นตอนก็ทำงานด้วยมือมนุษย์ ย่อมจะเกิดการผิดพลาดได้เหมือนกัน และสินค้าในห้างๆ หนึ่งก็มีหลักพันไปถึงหลักหมื่นรายการ ดังนั้นเราจึงต้องไปดูหน้าร้านด้วยตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นไปถึงหน้าร้านจริงๆ ไม่ใช่ค้างอยู่ในโกดังหรือหลังร้าน

วันนี้ขอเล่าเฉพาะภาพรวมธุรกิจที่ต้องเตรียมก่อนนะครับ คราวหน้าจะมาพูดถึงสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเข้าพบกับฝ่ายจัดซื้อของห้างครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ค้าปลีก หรือ Modern Trade ขั้นต่อของธุรกิจ SME


ค้าปลีก หรือ Modern Trade ขั้นต่อของธุรกิจ SME


ยอดขายของค้าปลีกทั้งหลายนั้น นับเฉพาะ แบรนด์ใหญ่ๆนั้นก็มีมูลค่ามากกว่า 3ล้านๆ ในปี 2557 ดังนั้นค้าปลีกเหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายหลักสำหรับบริษัทต่างๆไม่เว้นแต่ Sme ทั้งหลาย เนื่องจากหากเข้าค้าปลีกเหล่านี้ได้ ยอดขายจะพุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว มาดูกันดีกว่าว่า ค้าปลีกเหล่านี้แบ่งได้อย่างไรบ้าง


การแบ่งประเภทของค้าปลีกเหล่านี้นั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ซึ่งก็คือ

· Food

        o Supercenter/hypermarket ปี 2557 มีสาขารวม 341 สาขา

        o Supermarket ปี 2557 มีสาขารวม 428 สาขา

        o Convenience Store ปี 2557 มีสาขารวม 12,451 สาขา

· Non-Food

        o Department store ปี 2557 มีสาขารวม 69 สาขา

        o Home Improvement & DIY ปี 2557 มีสาขารวม 178 สาขา

        o Consumer Electronic Appliance ปี 2557 มีสาขารวม 1,435 สาขา

        o Health & Beauty ปี 2557 มีสาขารวม 1,146 สาขา



การเข้าไปขายสินค้าในค้าปลีกเหล่านี้ จะเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับเจ้าของสินค้าทั้งหลาย ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไป หากสามารถเข้าได้ ก็จะสามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล คิดดูว่าในกลุ่มอาหารนั้นที่มี ทั้ง Super/hypermarket อย่าง Makro, Bigc, Tesco Lotus นั้นมียอดขายปีนึงรวมกัน 4 แสน-5 แสนล้านต่อปี หรือว่าจะเป็น CVS เช่น 7-11 ที่มียอดขายปีนึงมากกว่า 2แสนล้านต่อปี เหล่านี้เป็นแหล่งการต่อยอดให้ SME และเจ้าของสินค้าให้บินสูงได้ในเวลารวดเร็ว


แต่ว่าการเข้าไปขายกับ Modern Trade เหล่านี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ผู้ประกอบการหลายรายที่สามารถเข้าไปขายกับ Modern Trade เหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถจัดการหลังบ้านได้ดี รวมถึงไม่สามารถจัดการกับ cashflow ได้กลับเจอสภาพที่ย่ำแย่กว่าก่อนที่จะเข้าไปขายในค้าปลีกเหล่านี้ เพราะต้องอย่าลืมว่า อำนาจต่อรองที่มีนั้น เรามีน้อยมาก และกฏเกณฑ์ต่างๆที่เราไม่เข้าใจ ทำให้หลายๆกรณีเราเสียผลประโยชน์ไปแบบคิดไม่ถึง


โดยสรุป ต้องบอกว่าค้าปลีกเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีในการเติบโตของธุรกิจอย่างสูง แต่การจัดการหลังบ้านและความเสี่ยงต่างๆยังมีอยู่เยอะ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการให้ดีก่อนเข้าไปขายของให้กับค้าปลีกเหล่านี้ เรียนรู้ด้านดีและด้านลบ อย่ามองแค่ด้านบวกที่เป็นผลประโยชน์กับเราฝ่ายเดียว แต่หากทำได้และสามารถจัดการกับเรื่องต่างๆได้ ธุรกิจของคุณเองก็จะสามารถไปได้ไกล เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์ดังหลายแบรนด์ที่ใช้ค้าปลีกเหล่านี้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับคุณและความสามารถของคุณครับ และหากคุณมีสินค้าในหมวดไหน ก็ลองวิเคราะห์กันดูก่อนว่า สินค้าของคุณน่าจะเหมาะเข้ากับค้าปลีกประเภทไหน และจะสามารถทำยอดให้คุณมากขึ้นได้มากเพียงใดครับ


YES Club (Young Entrepreneur Society)

#ค้าปลีก






วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

5 ปัจจัยที่ทำให้ร้านค้าประสบความสำเร็จ


5 ปัจจัยที่ทำให้ร้านค้าประสบความสำเร็จ



วันนี้ขอพูดเรื่องปัจจัยที่จะทำให้ร้านค้าประสบความสำเร็จนะครับ เราจะไม่พูดถึงการตกแต่งให้สวยงาม การบริการที่ดี ฯลฯ เพราะเรื่องนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ลองมาดูว่า 5 ปัจจัยนี้เป็นอะไรบ้างนะครับ


1. มีกลุ่มลูกค้าชัดเจน (Clear Target Customer)

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ครับว่าทำไมซูเปอร์มาร์เก็ตบางที่ขายของแพงกว่าอีกที่ แต่ยังสามารถขายได้ และมีคนซื้อเยอะด้วย เหตุผลหลักมาจากกลุ่มลูกค้าเราคือใคร ผู้บริโภคทุกคนต้องไปซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน (FMCG = Fast Moving Consumer Goods) แน่นอน เพียงแต่ว่าจะซื้อที่ไหน เราคงไม่ค่อยได้เห็นคุณผู้หญิงแต่งตัวดีมีฐานะ ไปซื้อของที่ BigC หรือเซเว่นหน้าปากซอย แต่เราพวกเขาเหล่านั้นที่ Tops หรือ Villa Market แทน หรือเราอาจจะอยากไปซื้อเครื่องสำอางค์ที่ Watsons หรือ Boots แทนที่จะซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งที่ของมันเป็นประเภทเดียวกัน แถมราคายังแพงกว่าด้วย เพราะเราเชื่อว่าซื้อจากสองร้านนี้จะได้ความพอใจส่วนตัวเพราะเราได้เลือกของดีที่สุดจากทุกอย่างบน Shelf แล้ว (ทั้งที่ไปซุปเปอร์ก็ซื้อแบบเดียวกัน) เห็นมั้ยครับว่าการมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนสามารถทำให้เราแข่งขันกับผู้อื่นได้ แม้เราจะเล็กกว่าก็ตาม



2. มีสินค้าหรือบริการหรืออะไรก็ตามที่ดึงดูดให้คนไปหาได้ (Destination)

หากท่านเปิดร้านขายสินค้าไอทีที่ปากซอยหน้าหมู่บ้าน เพื่อขายสินค้าประเภท Gadget ให้กับคนทั่วกรุงเทพฯ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นทำได้ยากมาก หรือทำสำเร็จได้ก็ต้องเหนื่อยมากๆ เพราะท่านไม่มีแรงมากพอที่จะดึงดูดให้คนมาหาได้ การจะทำให้ลูกค้าเข้ามาหาได้มีอยู่สองทางคือ ไปอยู่ในแหล่งที่คนซื้อขายเยอะๆ ให้แหล่งนั้นดึงดูดคนมาหาเรา ซึ่งเราเรียกวิธีนี้ว่า Category Destination Stores ถ้าผมยกตัวอย่างว่าหากท่านอยากซื้อเสื้อผ้าต้องไปที่ประตูน้ำ อยากซื้ออุปกรณ์ไอทีต้องไปพันธุ์ทิพย์ อยากซื้อของแต่งบ้านต้องไปจตุจักร อยากซื้อกิ๊ฟช็อปต้องไปสำเพ็ง คงจะเห็นภาพขัดเจนนะครับ

อีกวิธีนึงคือร้านค้าประเภท Stand Alone วิธีนี้เหมาะสำหรับ Retailer รายใหญ่ที่สามารถสร้างตัวให้เป็นที่ดึงดูดลูกค้าได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างเหล่านี้จะหาจุดดึงดูคนเข้าห้าง เช่น มีโรงหนังอยู่ในตัว มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีร้านขายสินค้าแฟชั่น เป็นต้น หรืออย่างเช่นร้านค้า Outlet Mall ที่อยู่ตามชานเมือง ก็เป็นที่ดึงดูดเพราะมีสินค้าครบทุกแบรนด์เป็นตัวดึงลูกค้า เป็นต้น


3. โลเคชั่น

คำว่าโลเคชั่นไม่ได้หมายถึงสถานที่ตั้งอย่างเดียว แต่รวมถึงการบริหารจัดการทางเข้าออก การมีป้าย (signage) เพื่อให้ลูกค้าทราบ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่ภายในร้านค้าด้วยนะครับ ลองนึกภาพห้างหรือแหล่งซื้อสินค้าที่ท่านอยากไปมากๆ แต่มองป้ายไม่เห็น ขับทีไรเลยทุกที หรือ ห้างที่รถติดมากๆ กว่าจะออกมาได้ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ไม่นับการหาที่จอดรถที่ต้องใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมง ร้านค้าทุกแบบก็พยายามจัดการปัญหาเหล่านี้ เช่น จตุจักรก็หาที่จอดรถให้มากขึ้น จัดระเบียบการจราจรใหม่ เป็นต้น



4. มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อจูงใจลูกค้า

เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมเราต้องลำบากขี่รถไปปากซอยเพื่อซื้อของที่เซเว่น ทั้งที่เราเดินไปสิบเก้าก็ถึงร้านโชห่วยใกล้บ้านเราแล้ว หรือการที่เราไม่รีบซื้อแชมพูขวดเล็กเพื่อรอไปโลตัสทีเดียวในวันหยุดและซื้อทีนึงเผื่อใช้ได้เลยเดือนนึง นี่เป็นเพราะการจูงใจลูกค้าเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการทำโปรโมชั่น เช่น ยอมขาดทุนลดราคาสินค้าตัวถูกๆ ตัวเดียว เพื่อให้คนเข้าห้างไปซื้อตัวอื่นที่กำไรดีกว่า (ไหนๆ เข้าห้างแล้วซื้ออย่างอื่นเลย จะได้คุ้มค่ารถ) หรือบางห้างเองก็มีการลดราคาสำหรับลูกค้าที่มาซื้อของในวันพุธ เพราะเป็นวันที่คนเดินเข้าห้างน้อยที่สุด เป็นต้น


5. มีบริการอย่างอื่นพิเศษนอกเหนือจากคู่แข่ง

เป็นอีกกลยุทธ์นึงสำหรับร้านค้าปลีกดังๆ เพื่อจะหนีสงครามราคา ไม่ว่าจะเป็นการให้สมัครสมาชิก ให้คะแนนสะสม แทนการลดราคาแบบปกติ การมีบริการรับชำระเงินเพื่อความสะดวก หรือมีบริการส่งของกลับบ้าน สำหรับท่านที่ไม่สะดวกขับรถมาเอง เป็นต้น

พอจะทราบเหตุผลของแต่ละร้านค้าและเหตุผลของผู้บริโภคในการเลือกร้านค้าปลีกแล้วนะครับ สามารถเอาไปปรับใช้ในการทำตลาดสำหรับธุรกิจท่านได้เลยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Modern Trade แบ่งเป็นกี่ประเภท


Modern Trade แบ่งเป็นกี่ประเภท



หลายท่านอาจมีธุรกิจที่จะต้องขายสินค้าผ่านช่องทาง Modern Trade บางธุรกิจอาจจะตั้งใจเข้าไปขาย บางแห่งอาจจะเข้าไปโดยบังเอิญ เพราะมี Modern Trade บางรายมาเชิญเข้าไปขายสินค้า ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก วันนี้ผมขอเล่าให้ฟังแบบง่ายๆ ว่า Modern Trade แต่ละที่ เค้าเรียกว่าอะไร และขายใครบ้าง เฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods) เท่านั้นครับ


1. Hypermarket ไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่


ในเมืองไทยตอนนี้เหลือแค่ 2 รายหลักเท่านั้นก็คือ Tesco Lotus และ BigC (เมื่อก่อนมี Carrefour แต่ถูกขายให้ BigC ไปแล้ว) ห้างเหล่านี้พวกเราคงคุ้นกันอยู่แล้ว เพราะเค้าขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทุกอย่างที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ในบ้าน ของใช้ส่วนตัว รวมถึงสินค้าเบ็ดเตล็ด โดยที่สินค้าหลักๆ ของห้างเหล่านี้ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า อาหารสด ของแห้ง และสินค้าตามฤดูกาล
การทำตลาดของห้างเหล่านี้หลักๆ จะเน้นเรื่องราคาถูกที่สุดในตลาด เพื่อดึงคนเข้ามาในห้าง เพราะเชื่อว่าเมื่อเข้ามาในห้างแล้ว ลูกค้าจะไม่ซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียวแน่นอน



2. Supermarket ซูเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน ได้แก่ Tops, Home Fresh Mart (The Mall), Villa, MaxValu เป็นต้น
ปกติซูเปอร์มาร์เก็ตมักจะไม่ได้เป็นร้านค้าที่อยู่โดดเดี่ยว (Stand Alone) เพราะไม่สามารถดึงดูดให้คนตั้งใจมาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเท่าไหร่นัก สังเกตว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้นใต้ดินหรือชั้นล่างของห้างสรรพสินค้า อาศัยการดึงคนจากห้างสรรพสินค้า ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มให้ห้างสรรพสินค้ามากกว่าโดยที่สินค้าจะหลากหลายน้อยกว่า Hypermarket สินค้าหลักได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และของใช้ส่วนตัว กลยุทธ์ไม่ได้เน้นราคา แต่จะเน้นความสด สะอาด และคุณภาพของสินค้า



3. Convenience Store ร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ท
เมื่อพูดถึงร้านเหล่านี้ชื่อแรกที่ปรากฏออกมาคงหนีไม่พ้น 7-eleven นอกจากนี้ยังมี Lotus Express, Family Mart หรือร้านที่เปิดตามปั๊มน้ำมัน เช่น Jiffy, TigerMart อีกด้วย โดยจะเน้นขายสินค้าที่สร้างความสะดวกให้ลูกค้าเท่านั้น (สังเกตได้ว่าลูกค้าจะซื้อและบริโภคในระยะเวลาอันสั้น) โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็ก บริโภคเสร็จในครั้งเดียว และเน้นไปที่อาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก



4. Specialty Stores ร้านค้าขายสินค้าเฉพาะทาง
ถ้าพูดในเรื่องความหลากหลายต้องยกให้ Hypermarket หรือ Department Store แต่ถ้าพูดถึงความเชี่ยวชาญและลึก ต้องยกให้ร้านค้าประเภทนี้ Specialty Store ส่วนใหญ่จะไม่ได้มีพื้นที่มาก แต่เน้นขายสินค้าเฉพาะหมวดและเจาะลึกเท่านั้น เช่น เน้นขายอาหาร (CP Fresh Mart) เน้นขายเครื่องใช้ส่วนตัว (Watsons, Boots) หรือเน้นขายยาและสินค้าสุขภาพ (Siam Drug) เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าบางอย่างหรือบางยี่ห้อ อาจจะเน้นขายแค่เหล่านี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็นสินค้าหายากมากกว่าจะขายใน Hypermarket)



5. Cash and Carry ตลาดสดและร้านค้าส่ง
ร้านค้าส่งในเมืองไทยตอนนี้มีรายเดียวคือ Makro เนื่องจาก Makro ขายสินค้าแบบส่ง (ทีละหลายชิ้น) ดังนั้นกลุ่มลูกค้าหลักจะไม่ใช่ผู้บริโภคทั่วไป แต่เป็นร้านค้าปลีกหรือมินิมาร์ทท้องถิ่น รวมถึงร้านอาหารที่ต้องการซื้อวัตถุดิบเพื่อไปปรุงต่อ เนื่องจากการค้าขายเป็นจำนวนมากๆ การซื้อขายจะเป็นแบบเงินสดเท่านั้น (ปัจจุบันนี้มีการเพิ่มให้ใช้บัตรเครดิตได้ด้วย)



คราวนี้คิดว่าทุกท่านคงแยกประเภท Modern Trade ออกได้คร่าวๆ เพื่อใช้ในการวางแผนขายสินค้าของท่านต่อไปในอนาคตได้นะครับ