ทำแต่ที่ถนัด
ในการทำงานนั้นไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจส่วนตัวหรือว่าทำงานประจำ สิ่งที่เจอก็คือว่า มีงานมากมายที่จำเป็นต้องทำ บ้างก็เลือกได้ว่าจะให้ใครทำ บ้างก็เลือกไม่ได้ แต่หากเราเลือกได้โดยเฉพาะกับเจ้าของธุรกิจที่ทำเอง หรือพึ่งเริ่มเช่น SME ต่างๆนั้นต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่จากประสบการณ์ที่ได้เห็นมานั้นคือ จะทำเองทุกอย่างหมดเป็นทั้ง Call center, เป็นทั้งฝ่ายผลิต, เป็นทั้งฝ่ายการตลาด, เป็นทั้ง Sales, เป็นทั้ง IT, หรือพูดง่ายๆ ว่า all in one นั่นเอง แต่การทำแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เรามาดูกันว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร
ข้อดี
· สามารถมุ่งไปยังสิ่งที่ถนัดและทำให้ได้ดีได้
· เก่งเฉพาะทาง
· สามารถพัฒนาศักยภาพในด้านนั้นได้ดีและสามารถทำให้เป็นผู้ชำนาญได้
· สามารถหาผู้ชำนาญทางด้านอื่นมาช่วยในด้านที่เราไม่ถนัดได้
· ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
· ไม่มี fix cost เนื่องจากงานที่ไม่ถนัดสามารถ outsource ได้
ข้อเสีย
· จำเป็นต้องใช้คนเยอะขึ้นและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
· รู้และชำนาญงานในวงแคบ
นอกจากนี้แล้ว การโฟกัสในสิ่งที่เราไม่ถนัดเราจะสามารถหาผู้ช่วยและผู้ที่ชำนาญมาช่วยอุดรูรั่วในส่วนที่เราไม่ชำนาญได้เช่นว่า เราชำนาญทำตลาด ขายเก่ง วางแผนเก่งแต่ก็อาจจะผลิตไม่เก่ง หรือว่าทำ IT ทำคอมไม่เก่ง เราก็เอาเวลาที่มีของเรานั้นไปทำตลาดไปขายของดีกว่า แล้วส่วนอื่นๆเราก็ outsource ออกไปได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้นั้นหาคนที่จะ outsource ได้เยอะมาก สิ่งที่เราทำได้ก็คือการสกรีนหาคนมาช่วยเราที่มีคุณภาพ และเข้าใจในงานที่ต้องการจะทำ
ในปัจจุบันนี้ทาง SME หรือบริษัททั้งหลายสามารถหา outsource ได้ในทุกส่วนและเหลือให้ธุรกิจของคุณเล็กและคล่องขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ว่าหากคุณต้องการขายสินค้าอย่างนึง คุณอาจจะต้องเปิดโรงงานและก็วุ่นอยู่กับโรงงานทั้งที่คุณไม่ถนัด แต่เดี๋ยวนี้การรับจ้างผลิตนั้นช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการอย่างเยอะมาก หรือนอกจากการผลิต การขนส่งต่างๆ messenger ก็สามารถ outsource ได้ โดยบริษัทขนส่งต่างๆหรือเอาง่ายๆก็มอเตอร์ไซค์รับจ้างหน้าปากซอยที่เห็นหน้ากันทุกวัน เผลอๆลองไปสอบถามราคาคุณอาจจะเจอว่าราคาอาจไม่แพงอย่างที่คิด ดังนั้นคุณก็ไม่ต้องไปจ้าง messenger มาประจำที่ออฟฟิตคุณและต้องเสียเงินเดือนในแต่ละเดือนให้กับพนักงานประจำต่างๆ
ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกนึงสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ การใช้ทุนให้น้อยสุดนั้นเป็นเรื่องดี จนกว่าธุรกิจจะหาโมเดลที่ลงตัวได้พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายและรายรับเลยนิ่ง ค่อยขยับหาทางขยายในเฟสต่อๆไปครับ
YES Club (Young Entrepreneur Society)
โลกสีดำกับคนทำธุรกิจ
ในโลกแห่งความฝัน คนที่มีฝันเริ่มธุรกิจทุกคนนั้นมองโลกที่เต็มไปด้วยสีชมพู และกลีบกุหลาบ ทุกอย่างดูดีเป็นภาพที่สวยงาม ทุกอย่างดูโอเค พระอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออกและตกในทิศตะวันตก แดดอ่อนๆยามเย็นที่ส่องทะเลสีทองอำไพสวยเหลือเกิน แต่พระอาทิตย์ดวงเดิมๆช่วงพระอาทิตย์ตกดินสำหรับบางคนที่กำลังจะเริ่มทำหรือทำธุรกิจไปแล้วอาจไม่ได้สวยแบบนั้นเสมอไป
สำหรับความเป็นจริงบางอย่างแล้ว ในการทำธุรกิจมันอาจไม่ได้สวยหรูแบบนั้น ระหว่างทางมันมีทางคดเคี้ยว ขรุขระ อุปสรรคต่างๆเต็มไปหมด หรือบางทีก็ไม่มีแม้แต่เส้นทางให้ด้วย มันเป็นโลกสีดำ มันเป็นเหมือนก้อนน้ำแข็งที่อยู่ใต้มหาสมุทรที่คนส่วนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญแต่มันมีอยู่จริง และที่แย่กว่านั้นคือมันทำให้เรือที่ไม่มีวันล่มอัปปางลงสู่ก้นทะเลได้ อย่างเรือไททานิค
หากไม่ดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างมาก แม้แต่เราตั้งสมมติเหตุการณ์ต่างๆไว้หลายเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ดีที่สุด เหตุการณ์ปกติ และเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เชื่อมั้ยครับว่าหลายๆครั้ง เหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการใหม่ทั้งหลายเจอ จะแย่กว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและเป็นเหตุทำให้ต้องเลิกลาไปเพราะว่าแต่ละเหตุการณ์นั้นไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ ไม่ว่าจะเป็น การไม่เข้าใจผู้บริโภคที่ดี การคิดว่าสินค้าดีๆอย่างเดียวก็สามารถขายได้ง่ายๆ หรือว่าเงินสดในมือที่ไม่ได้เตรียมไว้พอพอเจอกับเครดิตเทอมที่ยาวๆก็ทำให้สายป่านยาวไม่พอ หรือว่าทำเลที่ดูเหมือนดีแต่อาจไม่ดีจริง หรือว่าการเปิดร้านในห้างที่พึ่งเปิดที่เราไม่เคยเห็นภาพมาก่อนรวมถึงการขายฝันจากเจ้าหน้าที่ของห้างนั้นว่าจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งอาจไม่ได้ดีแบบนั้น หรือแม้แต่แผนดำเนินงานที่มีด้านเดียวแผนเดียวพอทุกอย่างผิดแผนก็อาจทำให้ไม่มีแผนสำรองและเจ๊งได้ หรือการหวังพึ่งพาร์ทเนอร์หรือลูกค้าใดรายนึงมากเกินไปเมื่อเวลาที่ไม่เป็นอย่างที่คิดก็อาจส่งผลเสียที่แย่มากให้กับธุรกิจได้ และยังมีอีก 108 เหตุการณ์ที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะเจอก็จะได้เจอครบ คิดไว้แย่เท่าไร เจอแย่กว่าเดิมหลายเท่า 10 เท่า 100 เท่า ดังนั้นการเริ่มธุรกิจ หากเราคิดถึงปัญหาต่างๆที่อาจจะเจอ คิดเอาไว้ให้ได้มากที่สุดและหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นล่วงหน้าไว้ก่อนแม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้เรามีภูมิต้านทานในการทำธุรกิจ เพราะหากคุณเองยังไม่เคยระวังปัญหาเหล่านี้เอาไว้ ซักวันคุณก็ต้องเจอและเมื่อคุณเจอตอนที่คุณไม่พร้อมนั้น มันจะยิ่งแย่เป็นหลายๆเท่า แต่หากว่าการที่คุณพยายามนึกถึงปัญหาต่างๆแล้วยังพอหาทางแก้ไขได้ มันยิ่งทำให้คุณคิดต่อได้อีกว่า หากแก้ได้ ธุรกิจของคุณจะวิ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ และมีโอกาสจะอยู่รอดในธุรกิจนั้นๆได้
สุดท้ายฝากเอาไว้สีดำถึงจะไม่สวย แต่ก็เป็นสีที่มีอยู่จริง การคิดและเตรียมตัวล่วงหน้าเอาไว้เยอะ ย่อมทำให้เราสามารถวางแผนงานล่วงหน้าแลหาทางรับมือกับปัญหาต่างๆได้ดีกว่า และอย่าลืมว่าต่อให้ธุรกิจนั้นมีโอกาสมากมายแค่ไหนมันอาจไม่มีประโยชน์เลยหากคุณผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไม่ได้ครับ
YES Club (Young Entrepreneur Society)
เราต้องเตรียมอะไรบ้างก่อนขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด (ตอนที่ 1)
สวัสดีครับ คราวที่แล้วพูดถึงข้อดีของการขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด วันนี้จะตอบคำถามที่คิดว่าท่านคงสงสัยเลยว่า หลังจากรู้ตัวแล้วว่าต้องขายเข้าโมเดิร์นเทรด จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ลองดูลิสต์ตามนี้เลยนะครับ
1. เตรียมตัวเรื่องคุณภาพสินค้า
การขายสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดนั้นต้องพบกับความคาดหวังของลูกค้าสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพสินค้า แทบทุกที่จะเน้นมากโดยเฉพาะอายุสินค้า (Shelf life) เพื่อเป็นการรับประกันว่าสินค้าที่ห้างเหล่านั้นขาย จะมีคุณภาพที่ดี ไม่ให้เกิดการคืนสินค้า หรือเกิดการเสียหายให้น้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งข้อตกลงในกรณีสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่ง (โดยไม่ใช่ความผิดของทางห้าง) ดังนั้นเรื่องคุณภาพสินค้าจึงเป็นสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงนะครับ
2. เตรียมกำลังการผลิต
เรื่องต่อมาคือการสำรวจกำลังการผลิตของสินค้าเรานะครับ ในกรณีที่ไม่ได้ผลิตเองก็สำรวจกำลังการผลิตของซัพพลายเออร์เรา หรือจำนวนสินค้าคงคลังที่เราต้องแบกสต็อกไว้ว่าสามารถรองรับออเดอร์จำนวนมหาศาลได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องปรับปรุงกำลังการผลิตโดยด่วน แต่การปรับปรุงนี้อาจนำมาซึ่งการซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งต้องดูว่าเราจะค้าขายกับโมเดิร์นเทรดในระยะยาวหรือไม่ หรือเป็นเพียงชั่วคราว
3. เตรียมการจัดส่งสินค้า
นอกจากเรื่องการผลิตที่ต้องรับให้ไหวแล้ว การส่งสินค้าให้ตรงเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน โมเดิร์นเทรดนั้นพยายามบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้ตัวเองแบกรับภาระให้น้อยที่สุด จึงพยายามแบ่งภาระนี้ให้ซัพพลายเออร์ส่งของให้ถี่ขึ้นและทันเวลาทุกครั้งที่สั่งของ โดยมีตัววัดที่เรียกว่า Service Level อาจจะมีหลายๆ ครั้งที่ไม่สามารถส่งได้ตามกำหนด ซัพพลายเออร์ก็จะถูกวัดผลงานนี้ด้วยเช่นกัน
4. เตรียมเงินหมุนสำหรับธุรกิจ
การขายสินค้าที่ดีขึ้น การผลิตให้มากขึ้น รวมถึงแบกสต็อกเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องเตรียมเงินหมุนให้มากขึ้นด้วย หากท่านยังมีเงินไม่พอ หรือหาแหล่งเงินเพิ่มไม่ได้ จะเกิดอาการขายดีแต่ไม่มีเงินใช้ กำไรตัวเลขแต่ในมือไม่มีเงิน ต้องวางแผนให้รัดกุมนะครับ เพราะกว่าเงินที่จะได้มาจากการขายก็ต้องรออีก 60-90 วัน จากเครดิตเทอมอีกทอดนึงด้วย
5. เตรียมกำลังคนฝ่ายขายและหน้าร้าน
เมื่อเราส่งสินค้าไปยังห้างแล้วไม่ได้แปลว่างานของเราเสร็จแล้วนะครับ มันไม่มีอะไรรับประกันว่าสินค้าจะถูกกระจายไปยังสาขาและถูกวางบน shelf เรียบร้อยตามที่คุยกับจัดซื้อไว้ เพราะการวางสินค้าหลายๆ ขั้นตอนก็ทำงานด้วยมือมนุษย์ ย่อมจะเกิดการผิดพลาดได้เหมือนกัน และสินค้าในห้างๆ หนึ่งก็มีหลักพันไปถึงหลักหมื่นรายการ ดังนั้นเราจึงต้องไปดูหน้าร้านด้วยตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นไปถึงหน้าร้านจริงๆ ไม่ใช่ค้างอยู่ในโกดังหรือหลังร้าน
วันนี้ขอเล่าเฉพาะภาพรวมธุรกิจที่ต้องเตรียมก่อนนะครับ คราวหน้าจะมาพูดถึงสิ่งที่ต้องเตรียมก่อนเข้าพบกับฝ่ายจัดซื้อของห้างครับ