วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

ชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว


ชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว




สำหรับหลายๆคนแล้วเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกันและในหลายๆครั้งการทำงานของเราก็ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตส่วนตัวเท่าไร ผมเคยเจอเพื่อนบางคนที่ชีวิตการทำงานนั้นกับชีวิตส่วนตัวเข้ากันได้เป็นอย่างดี และนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะทั้งหมดทั้งปวงการทำงานจะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเราๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วนั้นด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่างทำให้ยังไม่สามารถผสมชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดี



และสำหรับคนทำงานไม่ว่าจะทำงานประจำหรือทำงานส่วนตัว อย่างหนึ่งที่เราควรคิดก่อนทุกๆครั้งที่เราเลือกจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราควรคิดว่า งานๆนั้นธุรกิจนั้นๆเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการในการใช้ชีวิตของเราหรือไม่ ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้จักตัวเราเองก่อนครับว่า ชีวิตของเราจริงๆแล้วต้องการใช้ชีวิตแบบไหนเช่นว่า ตอนนี้อยากทำงานไปและมีเวลาเลี้ยงลูกได้ /ชอบทำงานเป็นเวลา/ ชอบทำงานเยอะๆ / ชอบทำงานต่างจังหวัด/ ชอบทำงานอิสระ หรืออะไรก็ตามครับตามความอยากของเรา เราสามารถเลือกได้ว่าเราชอบแบบไหน พูดง่ายๆเป็นการตั้งเป้าหมายของการใช้ชีวิตกับการทำงานให้สอดคล้องไป ที่เหลือก็เป็นงานของคุณเองแล้วว่าจะเลือกงานแบบไหน แม้แต่ว่าธุรกิจส่วนตัวของคุณเองก็แล้วแต่ เผลอๆยิ่งง่ายด้วยเพราะเป็นธุรกิจของคุณที่คุณสามารถออกแบบได้ว่าคุณต้องการให้ธุรกิจของคุณเป็นแบบไหน และหากเป็นคนทำงานประจำคุณก็มีทางเลือกอยู่ดีแหล่ะครับว่าคุณจะทำอะไรแบบไหน อาจไม่ใช่ทุกบริษัทที่เป็นแบบที่คุณต้องการ แต่อย่างน้อยคุณก็ยังมีทางเลือกให้หางานเพื่อตอบรับความต้องการของคุณได้ หรือในกรณีแย่สุดคุณอาจลองหางานส่วนตัวทำไปด้วยตอนทำงานก็ได้ครับ



สุดท้ายนี้ก็อยากจะฝากไว้กับทุกๆคนว่าเรามีสิทธิ์เลือกได้เต็มที่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความต้องการของเรา อย่าพึ่งรีบปฏิเสธความต้องการของเราด้วยคำว่าไม่มีหรอก เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่รู้จะทำมันให้ตรงกับความต้องการของเราได้อย่างไร อย่างน้อยเราลองตั้งเป้าแล้วลองหาวิธีดูผมเชื่อว่าทำได้ครับ

YES Club (Young Entrepreneur Society)

#ชีวิตการทำงาน#ชีวิตส่วนตัว

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

7 สาเหตุที่ทำให้แบรนด์ “พัง !!”





หนึ่งในกลยุทธ์ของการทำธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการทุกคนในยุคนี้รู้ และ ก็ยินดีที่จะทำก็คือ  การสร้างแบรนด์”   เพราะการมีแบรนด์ จะเป็น ประโยชน์อย่างมหาศาลต่อธุรกิจของคุณ ถ้าคุณสร้างแบรนด์เป็น และ ทำมันได้ออกมาอย่างดี

หากคุณสร้างแบรนด์ได้ดี  ประโยชน์ที่จะได้รับต่อธุรกิจของคุณคือ ธุรกิจคุณจะเป็นที่รู้จัก เป็นที่จดจำ มีการมองเห็นและแยกแยะความแตกต่างระหว่างคุณกับคู่แข่งได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยัง ทำให้ลูกค้าและผู้บริโภค มีความชื่นชอบ มีความเชื่อถือในแบรนด์และธุรกิจของคุณ และ กลายเป็น ลูกค้าขาประจำ ที่ไม่ว่าคุณจะทำกิจกรรมอะไร หรือออกสินค้าอะไรมา ลูกค้าเหล่านั้นก็พร้อมและเปิดใจที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆที่คุณทำออกมาเสมอ เมื่อลูกค้ายอมรับในธุรกิจและแบรนด์ของคุณ การต่อรองในการค้าขายกับคู่ค้าต่างๆก็ง่ายมากขึ้น  สุดท้ายมันก็จะส่งผลดีต่อยอดขาย ต่อธุรกิจ ต่อผลกำไร และ ความยั่งยืนในระยะยาวของธุรกิจของคุณ 

แต่ก็มีหลายๆผู้ประกอบการที่พยายามจะสร้างแบรนด์ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ล้มหายตายจากกันไปมากมาย  และ นี่ก็เป็นสาเหตุหลักๆ 7 อย่างที่ เขาได้ทำพลาดกันครับ

1.ไม่เข้าใจว่าการสร้างแบรนด์คืออะไร (ไม่ใช่แค่สร้างภาพ)
หากคุณยังคงเข้าใจว่า การสร้างแบรนด์ ก็แค่ ทำโลโก้ ทำ Packaging ทำ Design และ การนำเสนอต่างๆให้มันสวยๆ เท่ห์ มี Theme สี ที่ดี”  คุณกำลังเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลยล่ะครับ  การสร้างแบรนด์ ไม่ใช่แค่การโฆษณา หรือ การทำประชาสัมพันธ์ สร้างภาพสวยๆ..  แต่มันคือ แก่นหลักของการทำธุรกิจ ของคุณเลยล่ะ  คุณอยากให้แบรนด์คุณเป็นอย่างไร  ธุรกิจ และ พนักงานของคุณ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น  การบริหารงาน การผลิต ทุกๆอย่าง ต้องสอดคล้องกันนะครับ 
หลายๆแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ออกมาได้สวยงาม หรูหรา.. แต่ ตัวธุรกิจ สินค้า บริการ พนักงาน ไม่ได้เป็นอย่างภาพที่วางไว้ ..  ถ้าเป็นแบบนั้นก็ จบ  ครับ   

2.ทำไม่ได้ตามที่สื่อสารออกไป
การสื่อสาร เป็นส่วนนึง ในการที่จะทำให้คนรับรู้ และ รู้จักใน แบรนด์ ของคุณ  ทุกๆสิ่งที่คุณสื่อออกไป คุณต้องทำให้ได้ตามนั้นนะครับ  คุณภาพ, บริการ ต้องได้ ตามที่บอก   มีโรงแรมหลายแห่ง ที่มีการทำสื่อ ในการนำเสนออย่างสวยงาม แต่พอลูกค้าไปถึง สถานที่จริงเท่านั้นแหล่ะครับ ถึงกับ เงิบ..  หรือ พวกรูปเมนูอาหาร ต่างๆ ที่ของจริง ต่างจาก รูปภาพอย่างสิ้นเชิง

3.ไม่มีส่วนสนับสนุนในการสร้างแบรนด์ที่เพียงพอ
หากคิดจะทำแบรนด์แล้ว ทุกๆคน ทุกๆฝ่าย ต้องเห็นพ้องต้องกัน และ ต้องมีการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ทั้งในแง่งบประมาณ หรือ พนักงานที่ให้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆในองค์กร  บางแห่งได้แต่พูดว่า จะสร้างแบรนด์ จะสร้างแบรนด์ แต่ไม่สนับสนุนอะไรสักอย่าง เจอแบบนี้ ก็เจ๊ง แน่นอนครับ

4.ใจร้อน อยากสร้างแบรนด์เร็วๆ
สร้างแบรนด์ ไม่มี ทางลัด ไม่สูตรสำเร็จตายตัวครับ  ทุกอย่างต้องใช้เวลา เป็นปีๆ  แบรนด์คุณอาจจะโด่งดังได้ภายในข้ามคืนใน ยุคสมัยนี้ แต่มันก็เป็นแค่ขั้นแรกที่ทำให้คนเพิ่งได้รู้จักกับแบรนด์  แต่กว่าแบรนด์ของคุณจะมีคุณค่า และ ส่งผลประโยชน์ต่อธุรกิจของคุณนั้น  ต้องใช้เวลาครับ.. กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวนะครับ ..   แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ.. สร้างแบรนด์นั้นใช้เวลา  แต่ การทำลายแบรนด์นั้น ใช้เวลาแค่เพียงพริบตา..

5.ไม่สามารถควบคุม แบรนด์ของตนเองได้ดี
เมื่อธุรกิจเริ่มขยาย ต้องมีการควบคุมกิจกรรมต่างของแบรนด์ ควบคุมการขยายแบรนด์ การทำการสื่อสาร หลายๆคนเริ่ม คุมไม่ได้ หรือ ทำไปแบบไม่มีทิศทาง ไร้กลยุทธ์ ไม่ก็ทำๆหยุดๆ  สิ่งต่างๆที่ออกมา เริ่มไม่ตรงตามจุดยืน และ สิ่งที่แบรนด์ควรจะเป็น  สุดท้ายก็สร้างแบรนด์ออกมาได้ไม่ดี 

6.ต้องตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน อย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ
ข้อนี้คลาสสิคสุดครับ ..  ยึดติดกับอดีต กับความสำเร็จเดิมๆ  กาลเวลาเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน  แต่ตัวเอง ไม่ยอมเปลี่ยน..

7.ไม่เข้าใจถึงการวัดคุณค่าของแบรนด์
คุณค่าของแบรนด์ไม่ใช่แค่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดี สวยงาม หรูหรา หรือ มูลค่าที่เป็นแค่ตัวเงินที่วัดกันออกมาให้เป็น สินทรัพย์  แต่ คุณค่าของแบรนด์จริงๆ มันคือ สิ่งที่อยู่ในหัวในความคิด ของผู้บริโภค ว่าเค้ามีความรู้สึก และ คิดอย่างไร ต่อแบรนด์ของเรา  แบรนด์ที่ดี  ผู้บริโภคก็จะรู้สึกไปในทางบวก  แบรนด์ที่มีคุณค่าที่แข็งแรงมากๆ ก็จะทำให้ผู้บริโภคถึงขั้นติดแบรนด์ รัก และ หลงใหลในแบรนด์นั้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไร เค้าก็พร้อมที่จะสนับสนุนคุณตลอดเวลา

ทำแบรนด์ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ ก็ไม่ใช่เรื่อง ง่ายๆ นะครับ  สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณต้องเข้าใจก่อน ว่า การสร้างแบรนด์คืออะไร และ มันจะมีประโยชน์อย่างไร  เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจตั้งแต่แรก อย่างอื่นก็ไม่มีประโยชน์แล้วล่ะครับ

ARA



วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2558

Trial & Error ลองผิดลองถูก



Trial & Error ลองผิดลองถูก



ใครเคยได้ยินคำนี้มั่งมั้ยครับ trial & error หรือแปลว่าลองผิดลองถูก มันน่าสนใจที่ว่าทำไมไม่เป็น trial & success หรือลองถูกลองผิด ผมเชื่ออย่างนึงว่าในเส้นทางที่เราคิดว่าจะเป็นไปมันจะลองปุ้ปเจอปั้ป หมายถึงว่าเราอยากลองทำอะไรก็จะสำเร็จทันที แต่ความเป็นจริงแล้วเส้นทางมันคดเคี้ยวมากๆ กว่าจะไปถึงจุดหมายได้เราได้ลองผิดลองพลาดมาเยอะมากดังนั้นคำมันจึงเป็น trial & error ก็คือลองแล้วก็เจอสิ่งที่ผิดพลาดไปเรื่อยๆ ถ้าเปรียบเป็นการสอบเราก็ตัด choice ออกไปเรื่อยๆกับข้อที่ไม่ถูกทำไปถึงจุดนึงจะเริ่มคลำทางถูกกัน



สำหรับผู้ประกอบการผมเชื่อว่าทุกคนเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแน่ๆ (หากคุณไม่ได้ผ่าน มันจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ) และประสบการณ์ลองผิดลองถูกนี้ทำให้คนยอมแพ้กันไปหลายคนแล้ว บางครั้งวางแผนมาอย่างดีเจอครั้งแรกแล้วผิดแผนบางคนถึงกับล้มเลิกไปเลยและยอมแพ้ หากผู้ประกอบการทุกท่านตั้งสติดีๆ ลองไปเรื่อยๆ ผิดก็แก้ ลองปรับ จูนไปเรื่อยๆ มันอาจจะผิดซ้ำๆไปเรื่อยๆในวิธีที่แตกต่างกันอาจจะยังไม่เจอจุดที่ลงตัวหากเราลองปรับเปลี่ยน ปรับแผนไปเรื่อย ในที่สุดหากเราอดทนพอและสายป่านยาวพอ เราจะเจอทางออกกับปัญหานั้นๆครับ



ดังนั้นหากในวันนี้เราเริ่มทำธุรกิจและเจอปัญหาหลายๆอย่างถาโถมเข้ามา ค่อยๆลองคิดหาวิธีแก้ครับ ต่อให้เก่งแค่ไหนมาก็ต้องเจอโจทย์นี้ครับ ดังนั้นอย่าพึ่งท้อ ค่อยๆทำค่อยๆคิดค่อยๆแก้ไป มีเพื่อนปรึกษาเพื่อน มีคนรู้จักค่อยๆปรึกษาวิธีไปเรื่อย ประสบการณ์ของแต่ละคนจะมาช่วย shape ไอเดียการทำงานและความคิดของเราได้เป็นอย่างดีครับ



YES Club (Young Entrepreneur Society)

#การทำธุรกิจ #อุปสรรค





วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

10 กลยุทธ์ทำ branding ง่ายๆ



10 กลยุทธ์ทำ branding ง่ายๆ


สำหรับใครก็ตามที่กำลังจะทำงานในสายการตลาด หรือว่ากำลังทำอยู่ หรือแม้แต่กำลังจะทำแบรนด์สินค้าของตัวเอง คงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำแบรนด์ของเราให้ติดตลาดและเป็นที่น่าสนใจของลูกค้าเพราะว่าหากแบรนด์ของเราไม่เป็นที่จดจำหรือregister ในหัวของลูกค้าแล้ว ต่อให้สินค้าดีอย่างไรก็คงจะไม่สามารถทำกำไรให้กับเจ้าของแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน ทีนี้เรามาดูกันว่าเราควรจะเริ่มทำกลยุทธ์สร้างแบรนด์อย่างไรได้บ้าง


ชื่อต้องดี จำง่าย: อย่างแรกเลยที่ต้องมีหลังจากเราได้สินค้าคือ ชื่อแบรนด์ ชื่อสินค้า และหากให้ดีควรจะเป็นชื่อที่จำง่ายๆอ่านง่ายสะกดง่าย เพื่อให้ลูกค้าของเรานั้นสามารถอ่านและจดจำได้ง่าย และยิ่งหากเป็นชื่อที่มีความหมายตรงกับสินค้าด้วยจะยิ่งดีเชียว
โลโก้สอดคล้องกับชื่อ: เมื่อได้ชื่อที่ดีมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการต่อยอดหาสัญลักษณ์หรือ โลโก้มาให้เข้ากันกับชื่อและสินค้าของเราจะทำให้เราสามารถทำตลาดและทำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น เพราะว่าเราสามารถใช้โลโก้นั้นทำแบรนด์ได้โดยไม่ต้องมีชื่อติดไปด้วยก็ยังได้
สโลแกนสื่อถึงความหมาย และบอกประโยชน์ของสินค้า: ต่อเนื่องกันมาจากชื่อและโลโก้ การหาสโลแกนที่ดี จำง่ายๆและบอกถึงลักษณะของแบรนด์ได้นั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำเราได้อย่างไม่ยากเลย
แพ็คเกจดูดี: เมื่อได้ชื่อมาแล้วการทำแพ็คเกจให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และสื่อความหมายต่อผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของเราได้จะเป็นการที่ทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้อย่างยิ่ง
ต้องมี segmentation และ positioning ที่ชัดเจน : ประเด็นสำคัญที่มากกว่าชื่อและโลโก้คือการเข้าใจ segment ตลาดและเข้าใจ positioning ของแต่ละแบรนด์ในตลาด สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆในการทำแบรนด์ เพราะว่านักการตลาดหลายคนมักจะติดกับตรงนี้ ไม่สามารถแบ่ง segment ออกได้ หรือแบ่งได้แต่ไม่สามารถเข้าใจผู้บริโภคได้ชัดเจน ทำให้กลยุทธ์ต่อจากนี้เป็นเรื่องยากลำบากและจำเป็นต้องมาแก้ไขกันอีกยืดยาว การแบ่ง segment นั้นสามารถทำได้หลายวิธี อาจจะแบ่งง่ายๆด้วยเพศ ชาย หญิง หรือเพศอื่นๆ, อายุ, การศึกษา, หรือว่าถิ่นฐานที่อยู่ ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับตลาดและสินค้า ในบางสินค้านั้นอาจจะต้องแบ่งตลาดเป็นเรื่องของ need segmentation ด้วยซ้ำ
สร้าง identity: เมื่อเราได้ position ที่ชัดเจนในตลาด สิ่งที่ต้องสร้างคือเอกลักษณ์ของแบรนด์เรา ว่าเราต้องการให้แบรนด์มีจุดเด่นในแง่ของภาพลักษณ์อย่างไร และในตลาดผู้บริโภคมีลักษณะพฤติกรรมแบบไหน และต้องการเห็นแบรนด์เป็นแบบไหน ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจผู้บริโภคแล้ว เราก็จะสามารถกำหนด identity ให้ชัดเจนได้
ต้องมี personality ที่ชัดเจน และแตกต่าง: สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำแบรนด์ก็คือสร้าง personality ให้กับแบรนด์ เฉกเช่นเดียวกันกับคนที่ต้องมีบุคลิกที่แตกต่างและชัดเจน แบรนด์ใดๆก็แล้วแต่ที่มีบุคลิกไม่ชัดเจน หรือว่าเป็นบุคคลิกที่ไม่โดดเด่นออกมา การทำแบรนด์จะเป็นการทำที่ยากมาก ดังนั้นนักการตลาดจำเป็นต้องหา personality ของแบรนด์ออกมาให้ได้
หาช่องว่างของ Brand กับคู่แข่งให้เจอ: แต่ก่อนที่เราจะหา personality ของแบรนด์ได้ เราต้องรู้ก่อนว่าคู่แข่งเรายืนในจุดไหนกันบ้างแต่ละ brand นั้นมีความหมายมี personality อย่างไร และหากมีแบรนด์คู่แข่งสามารถยึดหัวหาดของ personality นั้นๆได้อย่างชัดเจน หากเราต้องการทำแบรนด์เพื่อไปแทนที่ตรงนั้นได้ จะต้องเป็นงานที่ค่อนข้างลำบากทีเดียว
สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า: สิ่งสำคัญที่จะกำหนดกลยุทธ์ก็คือ consumer insight หรือความเข้าใจผู้บริโภคและเมื่อเราเข้าใจดีแล้วเราจะสามารถกำหนดกลยุทธืทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วอย่างตรงเป้าตรงประเด็น ดังนั้นการทำ marketing research เพื่อให้เข้าใจผู้บริโภคนั้นจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง
ทำอย่างต่อเนื่อง: สุดท้ายแล้ว ต่อให้เราทำมาดีแค่ไหน การทำกิจกรรมต่างๆ การสื่อความหมายต่างๆอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้นเพื่อให้แบรนด์เรานั้นได้สื่อความหมายที่ต้องการออกไปอย่างต่อเนื่องและทำให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้และเข้าใจแบรนด์ของเราได้เป็นอย่างดี



ก็เป็นตัวอย่างง่ายๆนะครับสามารถลองไปทำกันเองได้ ซึ่งที่สำคัญเลยคือเราต้องเข้าใจผู้บริโภคให้ดีว่าเค้ามีพฤติกรรมอย่างไร และหาเราเข้าใจดีแล้ว เราจะสามารถกำหนดกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำถูกต้องได้ครับ



YES Club (Young Entrepreneur Society)

#branding #กลยุทธ์ทำแบรนด์ #หลักการทำแบรนด์